Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

ย้อนประวัติศาสตร์ MotorSport ของค่าย Honda ภาค 2

ย้อนประวัติศาสตร์ MotorSport ของค่าย Honda ภาค 2

กลับมาต่อกันในภาค 2 กับบทความ ย้อนประวัติศาสตร์ MotorSport ของค่าย Honda โดยเนื้อหาในตอนนี้เราจะไปดูความพยายามที่จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์การแข่งขัน ที่มีจุดกำเนิดเล็กๆ จากค่ายผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Honda กันครับ

อย่างที่เล่าไปในตอนที่แล้ว Honda เข้าร่วมการแข่งขัน WorldGP ในปี 1960 ด้วยความแตกต่างของเครื่องยนต์แบบสี่จังหวะ ที่ในตอนนั้นบรรดาทีมแข่งจะเลือกใช้งานเครื่องยนต์แบบสองจังหวะกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเพื่อนๆ ก็น่าจะทราบกันดีว่ารูปแบบการปล่อยพลังงานของเครื่องยนต์แบบสี่จังหวะนั้นไม่สามารถสู้กับเครื่องยนต์แบบสองจังหวะได้ในขนาดเครื่องยนต์ที่เท่าๆ กัน แต่ทางทีมวิศวกรที่นำทัพโดย Soichiro Honda กลับใช้จุดด้อยเพื่อสร้างให้เป็นจุดแข็ง โดยทางทีมพัฒนาได้ทำการลดช่วงชักของเครื่องยนต์เพื่อให้ได้รอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น ซึ่งนั้นก็หมายความถึงการเพิ่มจำนวนลูกสูบเพื่อให้ได้ปริมาณความจุตามที่การแข่งขันกำหนดไว้ ซึ่ง ณ ตอนนั้นกฎเรื่องจำนวนลูกสูบของเครื่องยนต์นั้นยังไม่มีการบรรญัติไว้เป็นตัวอักษร ทาง Honda จึงมีการใช้ช่องว่างของระเบียบการแข่งขันเพื่อสร้างเครื่องยนต์ที่เหนือความคาดหมาย

rc112 10
1963 Honda RC113 50 ซีซี 2 ลูกสูบ

ในตอนนั้นการแข่งขันในระดับ 50 ซีซี บรรดาทีมส่วนใหญ่จะใช้เครื่องยนต์สองจังหวะหนึ่งลูกสูบ รอบเครื่องยนต์สูงสุดจะอยู่ที่ประมาณ 05,000-11,000 รอบต่อนาที แต่ทาง Honda กลับใช้งานเครื่องยนต์ที่พัฒนาด้วยตัวเองแบบสองลูกสูบ สี่จังหวะ 50 ซีซี ที่มีรอบเครื่องยนต์สูงถึง 22,500 รอบต่อนาที พร้อมด้วยชุดเกียร์แบบแปดระดับและเก้าระดับ ให้กำลังสูงสุด 14 แรงม้า ซึ่งหากมีการเพิ่มกระบอกสูบจนมีความจุอยู่ที่ 1,000 ซีซี เจ้ารถแข่งของ Honda คันนี้จะมีแรงม้าสูงสุดถึง 280 แรงม้าเลยทีเดียว!!!

50 ซีซี แบบสองลูกสูบ ของ Honda นั้นสามารถคว้ารางวัลประเภทนักแข่งได้สองครั้ง รางวัลทีมผู้ผลิตได้หนึ่งครั้งในช่วงปี 1962-1965 เช่นเดียวกับรถในคลาส 250 ซีซี ที่ทางค่ายปีกนกเลือกใช้งานเครื่องยนต์แบบหกลูกสูบ สี่จังหวะ ซึ่งใช้หลักการเดียวกับ 50 ซีซี เปิดตัวครั้งแรกในปี 1964 ที่สนาม Monza ในประเทศอิตาลี โดยการเปิดตัวในครั้งนั้น Honda ใช้เวลาในการพัฒนาอยู่นานจนไม่ทันเครื่องบินขนส่งที่จะเดินทางไปยังประเทศอิตาลี ซึ่งทาง Honda แก้ปัญหาด้วยการส่งรถแข่งขึ้นเครื่องบินพานิชย์ที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารแทน

302767 Honda s First Golden Age of Grand Prix Racing

เจ้า 250 ซีซีของ Honda นั้นมาพร้อมกับเครื่องยนต์แบบหกสูบเรียง 249.8 ซีซี สี่จังหวะ มีขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชักอยู่ที่ 39 x 34.8 มิลลิเมตร และมีจำนวนวาล์วถึง 24 ตัว ที่รอบเครื่องยนต์สูงสุดที่ 18,000 รอบต่อนาที แรงม้าสูงสุด 60 แรงม้า ทำความเร็วได้สูงสุด 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยช่วงชักที่ยาวเกือบๆ 35 มิลลิเมตร ทำให้เพลาข้อเหวี่ยงของเครื่องยนต์นั้นมีความยาวถึง 35 เซนติเมตร ซึ่งทางวิศวกรของ Honda เองก็ได้ผลิต Conrods แบบชิ้นเดียว พร้อมกับ Flywheels ที่มีความบางเป็นพิเศษ ทำให้ลดการสั่นสะท้านของการทำงานจากเครื่องยนต์ได้ดีกว่าและทำให้ตัวรถที่มีช่วงชักที่สั้นกว่าปกติมีความเสถียรมากขึ้น โดยเจ้าเครื่องยนต์หกสูบนี้ก็ได้ไปต่อในคลาส 350 ซีซี โดยใช้รูปแบบและหลักการเดียวกับ 250 ซีซี ส่งให้ Honda เป็นแชมป์ผู้ผลิตในคลาส 350 ในปี 1965 และ 1967

ต่อมาในคลาส 125 ซีซี Honda เลือกใช้งานเครื่องยนต์แบบห้าลูกสูบ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กแต่รูปร่างโดยรวมนั้นยาวกว่าเครื่องยนต์ทั่วๆไป จนทีมช่างต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการซ่อมบำรุงที่มีลักษณะคล้ายๆ กับแหนบที่ใช้คีมสิ่งข้อเล็กๆ อย่างเจ้าชิ้นส่วน Tappets นั้นมีระยะห่างจากวาล์วเพียง 0.1778 มิลลิเมตรเท่านั้น รวมไปถึงการตั้งค่าตัวจ่ายน้ำมันแบบ Carburation นั้นต้องใช้เวลาที่นานกว่าปกติ เพราะเครื่องยนต์ตัวนี้ใช้ Cabrurator มากถึง 5 ตัว

302764 Honda s First Golden Age of Grand Prix Racing

ในปี 1965 Honda ผงาดคว้าแชมป์ผู้ผลิตได้เกือบจะทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น 50 ซีซี 125 ซีซี 250 ซีซี 350 ซีซี ซึ่งเหลือเพียงระดับเดียวนั่นก็คือ 500 ซีซี ซึ่งทาง Honda เองกลับใช้แผนการพัฒนาที่แตกต่างจากคลาสที่ประสบความสำเร็จ Honda เลือกใช้งานเครื่องยนต์แบบสี่ลูกสูบเรียง DOHC บนเจ้า RC181 การเปิดตัวครั้งแรกในปี 1966 เจ้า RC181 ก็สามารถคว้าชัยชนะได้ที่การแข่งขัน West German GP, ด้วยฝีมือของ Jim Redman  Rhodesia ประเทศเล็กๆในแอฟริกา โดยเจ้าตัวคว้าชัยชนะครั้งที่สองได้ที่สนาม Assen ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็จะมาประสบอุบัติเหตุในการแข่งสนามที่สาม De Spa-Francorchamps Circuit จนต้องพักรักษาตัว และเปลี่ยนให้ Mike Hailwood นักแข่งที่ลงทำการแข่งขันในระดับ 350 ซีซี ขึ้นมาขับแทนถึง 5 ใน 9 สนามสนามที่เหลือ แต่ทั้งสองคนก็ช่วยกันสร้างผลงานที่น่าเหลือเชื่อด้วยการส่งให้ Honda เป็นแชมป์ในฐานผู้ผลิต ซึ่งทำให้ Honda ครองความเป็นเจ้าผู้ผลิตในปี 1966 ด้วยการผงาดคว้าแชมป์โลกผู้ผลิตทั้งในระดับ 50 ซีซี 125 ซีซี 250 ซีซี 350 ซีซี และ 500 ซีซี

302768 Honda s First Golden Age of Grand Prix Racing

ฤดูกาล 1967 เป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่น่าจดจำของ Honda ในประวัติศาสตร์ WorldGP โดยเกือบจะเขียนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการแข่งขัน ด้วยฝีมือของ Mike Hailwood ที่เป็นนักแข่งคนเดียวของทีมที่สามารถคว้าแชมป์ประเภทนักแข่งในระดับ 250 ซีซี 350 ซีซี และเกือบจะคว้าแชมป์โลก 500 ซีซี มาได้ โดยเจ้าตัวทำคะแนนสะสมเท่ากับ Giacomo Agostini ตำนานนักแข่งอิตาเลี่ยน ที่ 46 คะแนนเท่ากัน โดยทั้งสองผลัดกันขึ้นอันดับที่หนึ่งและสองกันตลอด 10 สนามในฤดูกาล แต่น่าเสียดายที่ Hailwood มีจำนวนสนามที่ไม่สามารถจบการแข่งขันได้มากกว่า Agostini อยู่สองสนาม ทำให้คณะผู้จัดทำการยกแชมป์โลก 500 ซีซี ในปีนั้นให้กับ Giacomo Agostini ไปครอง ต่อมาในปีต่อมา 1968 Honda ได้ทำการถอนทีมออกจาก World GP โดยไปมุ่งเน้นไปที่แผนการพัฒนารถแข่ง F1 โดยได้วิศวกรคนเดียวกับที่ออกแบบเครื่องยนต์ 6 ลูกสูบ 250 ซีซี มาเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา

302770 Honda s First Golden Age of Grand Prix Racing

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทศวรรษ 1960 เป็นช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับผู้ผลิต Honda การแข่งมอเตอร์ไซค์ การต่อสู้เพื่ออำนาจสูงสุดระหว่างสี่จังหวะและสองจังหวะ เทคโนโลยีสำหรับการแข่งขัน ที่ไม่เคยมีมาก่อน วิศวกรและนักแข่งถูกผลักดันให้ถึงขีดจำกัด ขณะที่พวกเขาต่อสู้เพื่อชัยชนะทั้งใน Pit และสนาม Honda กลับเข้าร่วม WorldGP อีกครั้งในปี 1979 และสามารถผงาดคว้าแชมป์โลกได้ในปี 1983 แต่ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในปี 2001 Honda กลายเป็นผู้ผลิตรายแรกที่สามารถเอาชนะการแข่งขัน GP ได้ถึง 500 ครั้ง ซึ่งในปัจจุบันหากเรานับรวมๆ แล้ว Honda เก็บชนะบนเวทีระดับสูงสุดไปแล้วมากกว่า 800 ครั้ง บวกกับแชมป์โลกทั้งประเภทบุคคลและผู้ผลิตที่มากกว่า 133 ครั้ง ซึ่งนับว่า Honda คือผู้ที่อยู่บนจุดสูงที่สุดของวงการมอเตอร์สปอร์ตในหน้าประวัติศาสตร์ของ WorldGP และ MotoGP

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com