Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

5 วิธีรับมือกับทางโค้งอย่างเทพ

2015-Yamaha-YZF-R3-11-cornering

การขับขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้นมีความสนุกที่หลากหลาย และหนึ่งในความสนุกนั่นก็คือการได้เผชิญกับเส้นทางที่ท้าทาย หนึ่งในนั้นก็คือทางโค้ง ที่ดูเหมือนจะเป็นบทพิสูจน์ความเป็นไบค์เกอร์ได้อย่างชัดเจน

0

blank

การขับขี่ในทางโค้งนั้นนอกเหนือจากประสบการณ์และการฝึกฝนแล้วนั้น ก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทีมงาน GreatBiker อยากจะขอนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ลอง นำเอาไปฝึกฝนหรือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการกับตัวเองและรถมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนๆให้เข้าถึงอรรถรสและความสนุกสนานจากการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ โดยขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย

blank

การมอง
มาเริ่มกันที่เรื่องสำคัญก่อนเลยคือเรื่องของการมอง การมองเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการขับขี่มอเตอร์ไซค์ ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น หากทำการขับขี่มอเตอร์ไซค์จะมองตรงไปข้างหน้า โดยโฟกัสไปที่สิ่งที่อยู่ด้านหน้าเป็นหลัก ซึ่งจะบอกว่าผิดซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะนั่นมันคือธรรมชาติของมนุษย์ แต่การมองเพื่ออ่านเส้นทางหรืออ่านโค้งนั้น เราจะต้องมองไปให้ไกลกว่ามุมมองแบบปกติ เราจะต้องมองหาทางเข้าและทางออก รวมไปถึงอ่านเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นสภาพของพื้นถนน รถที่สรรจรไปมา โดยการมองโค้งนั้นควรจะเริ่มมองตั้งแต่ยังไม่เริ่มเข้า แต่ให้มองตั้งแต่ก่อนเข้าและหาทางออกจากโค้งให้ไวที่สุดโดยใช้ความเร็วที่ตัวเองคิดว่ารับมือไหว พอหาทางเข้าและออกได้แล้วก็มองเพื่ออ่านสภาพเหตุการณ์และคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งมันจะทำให้มีเวลาที่มากกว่าในการตัดสินใจทั้งในเรื่องของการใช้ความเร็วและการชะลอรถ รวมไปถึงระดับ Advanced ที่จะคิดไปถึงการต่อโค้งและการเดินคันเร่ง

ในตอนแรกของการฝึกฝนนั้น อาจจะใช้ความเร็วที่ไม่สูงมากนัก เพื่อให้เรากะจังหวะของการเข้าและออกให้ได้อย่างแม่นยำก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะบนท้องถนนนั้นด้วยนะครับ อีกอย่างที่สำคัญเลยคือการทำตัวให้คุ้นชินกับนิสัยของตัวรถให้ได้ในระดับหนึ่งเพื่อให้รู้ถึงแรงบิดและแรงเฉื่อยที่ออกมาจากเครื่องยนต์ในจังหวะที่เรากำลังเอียงตัวนั่นเอง

Bajaj Pulsar AS150 (3) cornering

การเบรก
เมื่อฝึกการมองโค้งสิ่งหนึ่งที่จะต้องฝึกฝนควบคู่กันไปนั้นก็คือการใช้เบรก หรือการชะลดรถ ต้องบอกก่อนว่าระบบเบรกในรถมอเตอร์ไซค์นั้นแยกออกมาได้ 3 แบบ ประกอบไปด้วย เบรกหน้า เบรกหลัง  และ เบรกจากเครื่องยนต์หรือ Engine Brake นั่นเอง โดยการชะลอรถทั้งสามแบบนี้มีประเภทการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป โดยส่วนมากแล้วรถมอเตอร์ไซค์นั้นเราจะต้องใช้เบรกหน้าเป็นหลักกว่า 60 % เบรกหลังเราจะใช้กันประมาณ 30 % และ Engine Brake อีก 10 % ซึ่งต้องบอกเพื่อนๆ เลยว่า Engine Brake นั้นไม่สามารถทำให้รถหยุดได้นะครับ แต่จะเป็นการชะลอความเร็วโดยใช้แรงเฉื่อยจากเครื่องยนต์ที่หมุนรอบต่ำลงหลังจากการยกคันเร่ง และอย่าลืมนะครับ ห้ามบีบ ห้ามกำ หรือเลียคลัทซ์ เป็นอันขาดไม่อย่างงั้นเครื่องจะหมุนฟรีไม่มีแรงฉุดใดๆ ทั้งสิ้น

การฝึกฝนการเบรกนั้นทำได้อย่างไม่ยากครับ โดยการใช้เบรกนั้นก่อนที่เราจะเริ่มเอียงตัวก็ให้ทำการชะลอความเร็วลงโดยการใช้การเบรกทั้งสามรูปแบบ นั้นก็คือ “กำคลัทซ์ ตบเกียร์ลง ปล่อยคลัทซ์ ยกคันเร่ง กำเบรกหน้า แตะเบรกหลัง” ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนร่างกายสั่งงานได้เองแบบอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องคำนวณหรือคิดถึงน้ำหนักที่เราจะใช้ในการกดเบรก พอรถอยู่ในความเร็วที่เราพอจะประคองรถได้ก็เริ่มเอียงตัวเข้าโค้งไป ถ้าหากความเร็วยังสูงไปอยู่นั้นให้ใช้เบรกได้ 2 รูปแบบก็คือ เบรกหลัง และ Engine Brake เท่านั้น พยายามอย่ากำเบรกหน้าในโค้งโดยเด็ดขาด เพราะในจังหวะการเอียงตัวของเรานั้น รถมอเตอร์ไซค์ที่ไม่มีระบบ Cornering ABS การจับห้ามล้อด้านหน้าvอาจมีอาการล้อล็อกตายและสูญเสียการควบคุมได้ แนะนำให้ใช้ Engine Brake ด้วยการตบเกียร์ลงไป 1 ตำแหน่ง และประคองรถด้วยเบรกหลัง ซึ่งถ้ามันไม่ไหวจริงๆ ก็ให้รีบตั้งรถให้ตรงและใช้เบรกหน้าในการหยุดรถ ย้ำว่าตอนเอียงตัวอย่างกำเบรกหน้าและกำคลัทซ์นะครับ

2016 KTM Duke 690 R cornering

การเดินคันเร่ง
หลังจากที่เรามองและเบรกแล้ว การเดินคันเร่งในทางโค้งนั้นก็เป็นอีกสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ การเดินคันเร่งรอบต่ำในจังหวะที่เราเอียงตัวอยู่นั้นไม่เพียงแต่เป็นการให้เครื่องยนต์ได้ทำงานตามปกติ แต่เป็นการรักษารอบของเครื่องยนต์ให้รอบเครื่องยนต์นั้นเพียงพอในการทำความเร็วในการออกจากทางโค้ง และสร้างรอบเครื่องให้อยู่ในจังหวะที่พอที่จะมีแรงฉุดให้เกิด Engine Brake ด้วยนั่นเอง

โดยการฝึกฝนนั้นทำได้อย่างง่ายดาย นั้นก็คือการหัดเดินคันเร่งในรอบต่ำในทางตรงก่อน  ฝึกให้คล่องโดยไม่ทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการ หรือดับ โดยการเดินคันเร่งนั้นอาจจะใช้เพียง 10-20 % จากการขับขี่แบบปกติ ซึ่งนั้นก็คือการเดินคันเร่งให้เบาที่สุดก่อน พอคล่องแล้วก็เริ่มฝึกในทางโค้ง โดยอาจจะใช้กรวยยางวางเป็นสองจุดแล้วขับขี่เป็นเลข 8 วนรอบสองกรวยที่เราวางไว้ ฝึกจนคุ้นชินแล้วไปลงพื้นที่จริงได้เลยครับ

blank

สภาวะจิตใจและร่างกาย
หลังจากที่เราทำการฝึกฝนทั้งการมอง การเบรก และการเดินคันเร่ง ได้อย่างชำนาญแล้ว สิ่งหนึ่งที่ควรจะมีการฝึกฝนด้วยก็คือสภาวะจิตใจและร่างกาย ในแง่ร่างกายนั้นคงไม่ต้องฝึกฝนอะไรมากมายสักเท่าไหร่ โดยการเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนการขับขี่ ยืดเส้นยืดสาย อบอุ่นร่างกาย และทำตัวให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะการขับขี่นั้นสมาธิและการสร้างแรงจดจ่อนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนในแง่ของจิตใจนั้น คือการสร้างสภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่อรถที่เราขับขี่หรือเกรงกลัวต่อรูปแบบเส้นทางที่เราจะขับขี่ไป หากสภาวะจิตใจเราลดต่ำลงความหวาดระแวงและความกลัวมันจะพุ่งสูงขึ้นไปแบบสวนทาง แต่หากมั่นใจมากไปก็อาจจะทำให้เราอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงได้เช่นกัน พูดกันแบบง่ายๆ เลยคือ “ทำใจให้นิ่ง”  นั่นเอง

blank

ทบทวนและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุดคือการฝึกฝน ซึ่งเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนนั้นพร้อมที่จะฝึกฝนกันได้ไม่ยากนัก ถึงแม้นการขับขี่ในชีวิตประจำวันของเรานั้น อาจจะไม่ได้เจอกับเส้นทางโค้งที่เหมาะสมกับการฝึกซึ่งแน่นอนว่ารูปแบบของเส้นทางนั้นไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญแต่เป็นการฝึกฝนให้ร่างกายสั่งงานได้อย่างอัตโนมัติโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาในการคิดคำนวณอะไรให้มันวุ่นวาย  ทักษะพวกนี้ปรับมาใช้ในการขับขี่แบบชีวิตประจำวันและบนถนนสาธารณะได้เป็นอย่างดีเชียว

อย่างไรก็ตามการฝึกฝนแบบเต็มรูปแบบก็ควรจะอยู่ในพื้นที่ปิด หรือไม่ใช่ที่สาธารณะ ก็เพื่อการหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะฝึก คงไม่มีเพื่อนๆ คนไหนอยากจะทำให้คนที่ใช้ท้องถนนเกิดอุบัติเหตุโดยต้นเหตุนั้นมาจากเราใช่ไหมครับ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.rushlane.com