Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

10 เคล็ดลับง่ายๆ ที่จะทำให้เพื่อนๆ นั้นขับขี่รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ “เป็น”

111017-2018-Kawasaki_ZX-10R_SE_Angle_18-f

เทคนิคการขับขี่มอเตอร์ไซค์นั้นมีมากมาย ทั้งขั้น Basic , Advanced และ Pro โดยแต่ละระดับการขับขี่นั้นมีพื้นฐานเดียวกันนั้นก็คือ การไม่พาตัวเองไปสู่จุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งตัวเองและผู้ร่วมใช้งานถนน  และวันนี้ ทีมงาน GreatBiker จะขอพาเพื่อนๆ ไปเรียนรู้ถึง 10 เทคนิคที่จะทำให้เพื่อนขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้อย่างมั่นใจขั้นเทพ

1. การใช้งานคลัทซ์ด้วยนิ้วเพียงสองนิ้ว
blank

ซึ่งเทคนิคนี้จะใช้งานนิ้วชี้และนิ้วกลางด้านซ้ายมือเท่านั้น โดยนิ้วนางและนิ้วก้อยจะเป็นเหมือนกับฐานรองรับการบีบกดของก้านคลัทซ์ ซึ่งการใช้งานนิ้วเพียงสองนิ้วนั้น จะทำให้ก้านคลัทซ์ทำงานแบบสนิทจนเกิดอาการเครื่องยนต์หมุนฟรี แต่จะยังพอมีการทำงานของระบบ Engine Brake อยู่บ้าง ซึ่งการฝึกฝนกำลังของนิ้วก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่จะทำให้เรามีแรงสามารถบีบก้านคลัทซ์ด้วยนิ้วเพียงสองนิ้วได้

2. การปรับแต่งคลัทซ์ให้มีตำแหน่งที่เหมาะสม

blank

การปรับแต่งระดับของการทำงานคลัทซ์นั้นจะมีผลอย่างมากในการคลายนิ้วทั้งสองของเราออกจากการบีบ โดยรถจะสามารถออกตัวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของการปรับแต่งอีกด้วย โดยการปรับแต่งระดับคลัทซ์นั้นสามารถทำได้อย่างง่ายเพียงใช้ประแจและไขควง โดยสามารถปรับแต่งได้ด้วยตัวเองหรือจะให้ผู้ที่เชี่ยวชาญมาช่วยในการปรับแต่งให้เหมาะสมกับตัวผู้ขับขี่

3. ฝึกขับขี่เป็นวงกลม

blank

การฝึกขับขี่เป็นวงกลมนั้นจะทำให้การทรงตัวของเราบนรถมอเตอร์ไซค์นั้นมีความเสถียรมากขึ้น รวมไปถึงเป็นการฝึกเดินคันเร่งและทักษะการ Balance ตัวบนรถมอเตอร์ไซค์ไปด้วย โดยเพื่อนๆ สามารถทำได้โดยการตั้งกรวย หรือหาวัตถุมาเป็นแกนกลาง และทำการขับขี่เป็นวงกลมรอบกรวยหรือวัตถุนั้นๆ โดยเพื่อนๆ จะต้องฝึกฝนให้สามารถทำได้ทั้งในการวนซ้ายและวนขวา โดยอาจจะเริ่มที่ความเร็วไม่ต้องมากนักประมาณ 20-30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอเริ่มคุ้นชินแล้วก็พยายามทำให้ไวขึ้น โดยอาศัยทักษะการเข้าโค้งทั้ง 3 รูปแบบ Lean In , Lean With และ Lean Out ควบคู่กันไป

4. ฝึกฝนขับขี่เป็นเลข 8

blank

การฝึกแบบเลข 8 นั้น อาจจะต้องใช้พื้นที่ในการฝึกที่มากกว่าแบบแรก โดยเพื่อนๆ อาจจะต้องใช้วัตถุหรือกรวยยางวางไว้สองฝั่ง และทำการขับขี่วนเป็นเลข 8 ผ่านกรวยยางหรือวัตถุที่เพื่อนๆ วางไว้ ซึ่งการฝึกนี้จะเป็นการฝึกฝนในเรื่องของ Balance การมอง การเดินคันเร่ง และการเลือกใช้ท่าทางในการเข้าโค้งอย่างเหมาะสม โดยเพื่อนๆ อาจจะเริ่มจากเลข 8 วงใหญ่ๆก่อน พอเริ่มคุ้นและสามารถทำได้อย่างไม่ขัดเขิน ก็ค่อยๆขยับวงให้เล็กลงมาเรื่อยๆ ได้

5. ฝึกฝนการใช้เบรก

blank

การเบรกในรถมอเตอร์ไซค์ปัจจุบันนั้นมีระบบ ABS มาช่วยป้องกันล้อล็อกตาย ซึ่งป้องกันการพลิกคว่ำได้เป็นอย่างดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยระยะการเบรกที่ยาวขึ้นกว่าแบบที่ไม่มี ABS โดยเทคนิคนี้ อยากให้เพื่อนๆ ใช้กรวยยางสองกรวยเป็นจุดเบรก และจุดสิ้นสุดการเบรก หรือจุดจอด โดยวางระยะห่างกันประมาณ 30 เมตร และใช้ความเร็วขับขี่มาไม่ต่ำกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอถึงจุดกรวยยางที่ 1 ก็ให้เริ่มทำการเบรก โดยให้จุดที่รถจอดนั้น อยู่ไม่เกินกรวยยางที่วางไว้ในจุดที่ 2 ซึ่งในการฝึกฝนนั้นวิธีการเบรกที่ได้ผลที่สุดก็คือ มือซ้ายห้ามกำคลัทซ์โดยเด็ดขาด มือขวาใช้ นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย ไล่ระดับการกำก้านเบรก คือค่อยๆ หุบนิ้วไล่เรียงกันไป โดยการเบรกแบบนี้จะเป็นการเบรกแบบไต่ระดับความแรงของการบีบ ส่วนของเท้าขวาที่ใช้แตะเบรกหลังนั้น อย่าพยายามเหยียบจนสุด ใช้การเลี้ยงเบรกไปเรื่อยๆ โดยเบรกหลังนั้นจะไม่ทำให้รถหยุดได้อย่างแน่นอนมันทำได้เพียงประคองตัวและชะลอความเร็วเท่านั้น ซึ่งเราอาจจะไม่ต้องถึงขั้นกำนิ้วก้อยก็ได้ เพราะหากเราไล่ระดับมาดี ABS ก็จะไม่ทำงานและอาการสับที่ล้อหน้านั้นจะมีน้อยลงและระยะของการเบรกก็จะสั้นลงนั่นเอง

6. การวางเท้าที่ถูกต้อง

blank

ตำแหน่งของการวางเท้าก็มีส่วนสำคัญในการขับขี่ เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว เท้าซ้ายจะต้องใช้งานในการเปลี่ยนเกียร์ และเท้าขวาจะต้องใช้งานในการเปิดใช้เบรกหลัง ซึ่งตำแหน่งการวางเท่าที่ถูกต้องนั้น เท้าซ้ายเมื่อทำการเปลี่ยนเกียร์ไม่ว่าขึ้นหรือลงแล้ว จะต้องเก็บเท้ามาไว้บนคันเกียร์ทุกครั้ง เราจะไม่เอาเท้าสอดไว้ใต้เกียร์โดยเด็ดขาด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ เท้าเราอาจจะติดตัวตัวรถและลากเราไปยังที่ที่เราไม่อยากจะไปได้ ส่วนเท้าขวานั้นตำแหน่งการวางของพักเท้าของรถมอเตอร์ไซค์แต่ละแนวนั้นจะมีการวางตำแหน่งที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่เราจะใช้ปลายเท้าในการแตะแป้นเบรกหลังเท่านั้น จะไม่ใช้อุ้งเท้าในการกดเบรกโดยเด็ดขาด เพราะแรงกดจากอุ้งเท้านั้นมีมากกว่าปลายเท้า ซึ่งการเบรกแบบนั้นอาจจะทำให้รถเสียสมดุลและเกิดอาการไฮไซด์หรือล้มคว่ำได้ โดยปกติแล้วในการขับขี่จริง เราอาจจะให้ปลายเท้าวางบนแป้นเบรกได้ แต่หากอยู่ในจังหวะที่เราขับขี่ด้วยความเร็วไม่มากก็อาจจะถอยเท้าโดยไม่ให้ปลายเท้าแตะโดนแป้นเบรกเลยก็ได้

7. ใช้เข่าสองข้างหนีบถังให้กระฉับ

blank

การใช้เข่าทั้งสองข้างหนีบถังน้ำมันไว้ตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะการหนีบถังน้ำมันนั้นจะทำให้สรีระของร่างกายเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับรถ ยิ่งหากเราอยู่ในโค้งที่ใช้ความเร็วสูงๆ จะทำให้ควบคุมรถได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมันค่อนข้างจะแตกต่างกับสิ่งที่เราเคยเห็นจากการแข่งขันจนชินตา พวกนักแข่งจะนิยมกางขาออกให้เข่าถูไปกับพื้นสนาม ซึ่งนั้นไม่สามารถใช้ได้กับการขับขี่ในชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน เพราะที่กางเกงของนักแข่งนั้นจะมีส่วนของปุ่มนูนที่เรียกว่าเซ็นเซอร์เข่าอยู่ โดยจะเป็นสิ่งที่ใช้เตือนนักแข่งว่า หากเซ็นเซอร์นี้ถูกับพื้นสนามแล้ว นักแข่งจะไม่สามารถเอียงตัวรถไปได้มากกว่านี้แล้วนั่นเอง

8. มองไปยังจุดที่เราต้องการไป

blank

การมองเป็นส่วนหนึ่งการการบังคับควบคุมรถมอเตอร์ไซค์ โดยบรรดาครูฝึกทั้งหลายมักจะบอกกับบรรดานักเรียนเสมอว่า “เราจะอยากจะพามอเตอร์ไซค์ไปทางไหนเราก็ต้องมองไปทางนั้น”  เช่นเดียวกับการเดินบนท้องถนนหากเพื่อนมัวแต่ก้มหน้าเดิน ก็อาจจะเดินชนกับอุปสรรคที่ขวางทางเราอยู่ ถึงจะสามารถหลบหลีกได้แต่ก็จะเป็นจังหวะที่จวนตัว ดังนั้นแล้วการปรับการมองในเวลาที่เราขับขี่นั้นจะสามารถช่วยในเรื่องของโฟกัสที่ตำแหน่งที่เราจะไปได้อย่างชัดเจน และสามารถมองเห็นอุปสรรคได้ก่อนหน้าที่เราจะไปถึงอย่างแน่นอน

9. การเลือกเลนและระยะห่างที่ถูกต้อง

blank

การขับขี่บนท้องถนนนั้นมีความจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องเลือกเลนในการขับขี่และระยะห่างจากรถคันข้างหน้าที่ถูกต้อง โดยการเลือกเลนในการขับขี่นั้นจะขึ้นอยู่กับความเร็วที่เราใช้ในขณะนั้น การขับขี่ในย่านความเร็วต่ำนั้นเราไม่ควรจะอยู่กลางเลนหรือฝั่งขวาของเลน จุดที่เราควรจะอยู่ก็คือฝั่งซ้าย โดยไม่ใช่ตำแหน่งซ้ายสุดของเลน เพราะฝั่งซ้ายสุดนั้นจะมีโอกาสที่รถที่จะมาจากทางแยกหรือรถที่จอดอยู่จะสามารถชนเราได้ ในตำแหน่งเลนขวาจะเป็นตำแหน่งที่เราใช้ความเร็วสูง เพื่อทำการแซงเท่านั้น หากเราอยู่ในย่านความเร็วระดับกลางขึ้นไปการอยู่ฝั่งซ้ายค่อนไปตรงกลางจะเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของการขับขี่บนท้องถนน เพราะเราสามารถมองเห็นได้ทั้งรถทางฝั่งซ้ายที่จอดอยู่หรือรอข้ามแยกและฝั่งขวาที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูงผ่านกระจกมองหลัง ส่วนระยะห่างของเรากับรถข้างหน้านั้นทำได้ง่ายๆ เพียงขอให้เราสามารถมองเห็นรถคันต่อไปที่อยู่ข้างหน้าเราได้ ก็เพราะเวลาที่รถคันต่อไปนั้นเกิดเบรกฉุกเฉินขึ้นมาเราจะยังพอมีเวลาในการตัดสินใจที่จะเบี่ยงหรือเบรกได้อย่างทันท่วงที ส่วนระยะในการขับขี่ออกทริปเป็นกลุ่มนั้น การวางตำแหน่งการขับขี่แบบสลับฟันปลาเป็นการขับขี่ที่สามารถรักษารูปขบวน และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้มากที่สุด

10. ตั้งสติอย่าคิดลองดีกับความเสี่ยง

blank

หลังจากที่เราเรียนรู้เทคนิคทั้ง 9 ข้อมาแล้ว ข้อสุดท้ายก็คือการมีสติในการขับขี่ทุกๆครั้ง เพราะเมื่อเรามีสติเราจะสามารถใช้ทักษะที่เราฝึกฝนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเหนื่อยล้าจากการขับขี่ระยะทางไกล หรือการทำงาน ควรจะหยุดพักก่อนเพื่อให้ร่างกายได้ทำการเปลี่ยนอริยาบทและผ่อนคลายจากสิ่งที่เราเจอมาก่อนหน้าการขับขี่ และอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจดจำนั้นก็คือ การไม่เอาตัวเองไปอยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการแซงในพื้นที่คับขัน เมาจากการดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ ป่วย หรือแม้กระทั่งฝ่าฝืนกฎจารจร ซึ่งหากเรามีอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่กล่าวมา ก็มีเปอร์เซ็นต์ที่เราจะได้เจอกับรถฉุกเฉินเป็นแน่นอน

blank

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคนิคส่วนหนึ่งที่สามารถนำเอามาใช้ในการขับขี่ในรูปแบบของการใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งมันจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมาก ซึ่งทั้งนี้แล้ว พวกอุปกรณ์ Safety พวกหมวกกันน็อค เสื้อการ์ดแขนยาว ถุงมือ และรองเท้าหุ้มส้น ก็จะช่วยลดการเกิดความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดีด้วย ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนขับขี่ปลอดภัยทุกเส้นทางครับ

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.motorcycle.com