Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

ใครจะเข้าซื้อกิจการ Norton

ใครจะเข้าซื้อกิจการ Norton

กลายเป็นประเด็นที่หลายๆ สื่อต่างประเทศเล่นข่าวกันอย่างสนุกสนาน สำหรับการเตรียมขายกิจการของแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอังกฤษ ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากกว่า 100 ปี โดยในบทความนี้เราจะลองวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการเข้าซื้อกิจการของสามรายที่มีโอกาสเข้าซื้อกิจการที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานอย่าง Norton กันครับ

รูปภาพ 1931 Norton Model 16 H
1931 Norton Model 16 H

ก่อนอื่นต้องของเล่าความเป็นมาของแบรนด์ Norton กันแบบคร่าวๆ กันก่อน โดยบริษัท Norton นั้นก่อตั้งครั้งแรกในปี 1898 โดยนาย James Lansdowne Norton ในเมือง Birmingham ประเทศอังกฤษ โดยเป็นบริษัทเพื่อการค้าและสร้างรถมอเตอร์ไซค์ส่วนบุคคลภายในประเทศอังกฤษและสหราชอานาจักร โดยมีโมเดลออกมาไม่มากนักในช่วงแรก แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากคณะสัมพันธมิตรในการจัดสร้างรถมอเตอร์ไซค์สำหรับการทหารเพื่อใช้ในสงครามโลกเป็นจำนวนกว่า 100,000 คัน กับสองโมเดลอย่าง 16 H และ Big 4 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกทั้งสองครั้ง Norton ก็ได้หันกลับมาผลิตรถมอเตอร์ไซค์เพื่อการค้าอีกครั้ง โดยมีรุ่นที่ขายดีอย่าง Norton Dominator 50 ซีซี 600 ซีซี และ 750 ซีซี จนกระทั่งในปี 1975 บริษัทได้เกิดสภาวะล้มละลายจนต้องขายกิจการให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและได้ปิดกิจการลงไปในปีต่อมา

รูปภาพ 2011 Norton Commando 961
2011 Norton Commando 961

จนกระทั่งปี 2008 นาย Stuart Garner นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวอังกฤษ ได้เข้าไปซื้อกิจการคืนมาจากสหรัฐและได้ทำการบูรณะแบรนด์ขึ้นมาใหม่ และปล่อยโมเดลแรกในปี 2011 กับเจ้า Norton Commando 961 หลังจากปิดค่ายไปกว่า 30 ปี และสร้างกระแสความนิยมเป็นอย่างมากกับการพัฒนาเจ้า Norton V4-SS และ V4-S ขึ้นมาในปี 2015 แต่ท้ายที่สุดการเข้าสู่ตลาด Mass Product ของแบรนด์ก็มีปัญหาหลังจากปล่อยโมเดล Atlas เครื่องยนต์สองลูกสูบ 650 ซีซี เพื่อการค้าแต่กลับไม่สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ อีกทั้งยังมีปัญหาในกระบวนการผลิตจนทำให้บริษัทขาดทุนสะสมและยังมีปัญหาในการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งตอนนี้บริษัทภายใต้การดูแลของนาย Stuart Garner เองกำลังถูกสรรพสามิตของสหราชอานาจักร ตรวจสอบบัญชีรายได้และกำลังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งที่สุดแล้วหากพบความผิดจริง บริษัทจะถูกฟ้องล้มละลายเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์

รูปภาพ Triumph Rocket 3
2020 Triumph Rocket III

จากดูประวัติกันแบบคร่าวๆ แล้ว ดูเหมือนว่า Norton เองจะไม่ใช่แบรนด์มอเตอร์ไซค์ที่จะสร้างเม็ดเงินดึงดูดใจนักลงทุนได้มากนัก แต่สิ่งที่ดึงดูดความน่าสนใจของแบรนด์นี้ก็คือประวัติศาสตร์ที่อาจจะมีมุมมืดอยู่บ้างแต่ก็มีความน่าจดจำและเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวอังกฤษ ดังนั้นแล้วจึงไม่พ้นแบรนด์ Triumph ที่จะเข้ามาเป็นตัวเก๊งรายแรกในการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ แต่หากมองลงไปให้ลึกจริงๆ แล้ว Triumph เองก็พึ่งจะประสบความสำเร็จเมื่อราวๆ ต้นยุค 2000 นี้หลังจากการบริหารที่ล้มเหลวของ John Bloor จนในช่วงปลายยุค 90 บริษัทเคยประกาศขายกิจการในมูลค่า 100 ล้านปอนด์ ซึ่งในตอนนั้นเองก็ไม่ได้มีใครเหลียวแลและมองว่าการเข้าซื้อ Triumph ในตอนนั้นจะสร้างผลเสียมากกว่ากำไร แต่ในท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงทิศทางครั้งใหม่ภายใต้การดูแลของเจ้านายคนเดิม บริษัทเริ่มมีกำไรและสร้างสรรค์ชิ้นงานในระดับพรีเมี่ยมประดับวงการมอเตอร์ไซค์อย่างมากมาย และปฎิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบัน Triumph เป็นแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของตลาด และความสำเร็จในครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่สร้างมาตรฐานครั้งใหม่ให้กับทีมผู้บริหาร และน่าจะเป็นทางออกสำหรับการเข้าซื้อกิจการและสามารถปั้นแบรนด์ใหม่จนประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกับที่ทำกับ Triumph แต่ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งด้วยความที่แบรนด์ Triumph เองก็เป็นแบรนด์ในระดับพรีเมี่ยม ที่อาจจะเจ้าตลาดกว่า Norton ด้วยการมีโรงงานและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดทั่วโลก การลงทุนสร้างแบรนด์ใหม่ที่เหมือนมีชนักติดหลังแบบ Norton อาจจะกลายเป็นจุดที่ดึงให้แบรนด์ที่กำลังไปได้ดีร่วงลงมาแบบไม่เป็นท่าเลยก็ได้

Keanu Reeves บนรถมอเตอร์ไซค์ Norton

รายที่สองหวยมาออกที่ Keanu Reeves นักแสดงหนุ่มใหญ่ที่มีความผูกพันกับแบรนด์ Norton เป็นอย่างมาก โดยที่เจ้าตัวเคยเปิดโรงรถมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ในสต๊อกของตัวเองและพบเจอกับรถ Norton มากกว่า 10 คันอยู่ในโรงรถ อีกทั้งเจ้าตัวยังเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Arch Motorcycle บริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้วหากมีโอกาสที่จะเข้าซื้อแบรนด์ที่ตัวเองคลั่งไคล้แล้วล่ะก็ก็ไม่น่าจะปิดโอกาสในการสานฝันของตัวเอง อีกทั้งเจ้าตัวยังได้รับการยกย่องและให้ความเคารพในอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างมาก รัศมีความเป็นผู้บริหารองค์กรของเค้านั้นเรียกได้ว่าจับพอๆ กับการรับบทบาทในการแสดงเลยทีเดียว แต่ในอีกมุมมองหนึ่งกับการทำงานภายใต้แบรนด์ Arch Motorcycles แล้วยังคงห่างไกลกับคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ด้วยความที่แบรนด์ Arch เองนั้นเป็นแบรนด์เฉพาะทาง เรียกได้ว่าเฉพาะทางยิ่งกว่า Norton เสียอีก การเข้าซื้อกิจการของ Norton นั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องเสี่ยงมากกว่า ถึงแม้ว่าอาจจะสานฝันการเป็นเจ้าของกิจการที่ตัวเองชื่นชอบได้ก็จริง แต่ถ้ายังใช้แผนงานเฉกเช่นเดียวกับ Arch Motorcycle แล้วล่ะก็ความอยู่รอด การหมุนเวียนของโมเดล น่าจะไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้สักเท่าไหร่

บริษัท Zongshen 0

มาถึงรายสุดท้ายกับพันธมิตรรายใหม่อย่าง Zongshen ผู้ผลิตสัญชาติจีน ที่ทั้งสองบริษัทพึ่งจะประกาศความร่วมมือกันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า การได้ครอบครองแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของบริษัทจากประเทศจีนนั้น ไม่ได้กำลังจะเกิดขึ้นกับ Zongshen เท่านั้น แต่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ Benelli ในการเข้าซื้อกิจการของบริษัท Qianjiang และการเข้าซื้อกิจการนั้นก็สามารถพลิกสถานการณ์หลายๆ อย่างของ Benelli ได้อย่างชัดเจน และยิ่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมาการเจรจาของผู้บริหารของทั้ง Zongshen และ Norton ก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี จนเกิดสัญญามูลค่าหลายล้านดอลล่าร์ และเป็นการพัฒนาแนวทางของแบรนด์ทั้งสองอย่างเห็นผลชัดเจน ดังนั้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Zongshen คือตัวเก๊งอันดับหนึ่งในการเข้าซื้อกิจการของ Norton ณ ตอนนี้

รูปภาพรถ Norton
2018 Norton Dominator

อย่างไรก็ดียังไม่มีการเปิดโต๊ะเจรจาเรื่องการเข้าซื้อกิจการอย่างเป็นทางการในตอนนี้ โดยสิ่งที่ Norton ของ Stuart Garner ทำได้ในตอนนี้คือการชี้แจงที่มาของรายได้และสาเหตุหลักของการขาดทุนต่อสรรพสามิตสหราชอานาจักรให้ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งฟ้องให้ได้เสียก่อน แต่ถ้าหากเกิดการเจรจาหรือการซื้อขายแบรนด์กันอย่างเป็นทางการ บริษัทใหม่ที่เข้ามารับเผือกร้อนต่อจาก Stuart Garner ก็ต้องคิดหลายตลบเหมือนกันถึงเรื่องการพัฒนาแบรนด์และจะเอายังไงหากจะซื้อขายกันจริง และท้ายที่สุดหากมองในแง่ร้ายแบบสุดๆ เมื่อไม่มีใครเข้าซื้อแบรนด์อย่างเป็นทางการหรือไม่สามารถหาเจ้าของรายใหม่ได้ แบรนด์อย่าง Norton เองก็อาจจะต้องถูกปิดลงอีกครั้งหลังผ่านไป 122 ปีของการก่อตั้งก็เป็นไปได้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com