Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

ออกทริปบินเดี่ยว! ต้องเตรียมตัวอย่างไร

KybjY8.jpg

คุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้หรือไม่ อยากจะออกทริป แต่เพื่อนไม่ว่าง หรือทริปล่มบ่อยๆ เพราะมีงานเข้า หรือบางครั้งมีอารมณ์อยากออกทริปลุยเดี่ยวแบบลูกผู้ชาย หาประสบการณ์ หรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ อยากออกเดินทางไปในสถานที่ใหม่ๆที่ วันนี้ทีมงาน GreatBiker จะมาแนะนำวิธีการ ออกทริปเดี่ยว ให้กับเพื่อนๆได้นำไปปรับใช้กันนะครับ โดยทางเราได้ลิสต์สิ่งที่ต้องเตรียมและการตรวจเช็คเบื้องต้นไว้ให้ จะเป็นอย่างไรติดตามได้เลยครับ

เตรียมคน

KyDLsy.jpg

1.สุขภาพ

โดยเราควรมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์มากที่สุดก่อนออกเดินทาง โดยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่มีอาการป่วยใดๆ หรืออาการเสี่ยงที่จะป่วยระหว่างเดินทาง และไม่มีอาการบาดเจ็บที่มีผลต่อการควบคุมรถ

2.การแต่งกายและอุปกรณ์ขับขี่

เราต้องใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยที่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานเท่านั้น เช่น หมวกนิรภัยต้องไม่มีรอยแตกร้าว ชิลด์กันลมสะอาดใสมองเห็นได้ชัด และไม่ทึบแสงจนเกินไป ถุงมือ, รองเท้า, เสื้อการ์ด, กางเกงการ์ด ต้องอยู่สภาพดี ซิปไม่แตก ไม่มีรอยขาด เป็นต้น

 

เตรียมรถ

KybOXz.jpg

1.สภาพภายนอก และอุปกรณ์ความปลอดภัย

สิ่งที่ต้องตรวจเช็คเบื้องต้นด้วยตัวเอง ได้แก่
-สภาพของตัวถัง และโครงรถ
-สภาพของยางหน้า-หลัง
-ระบบไฟต่างๆ ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย
-ระบบเบรกหน้าหลัง
-หน้าปัดแสดงข้อมูลการขับขี่
-คันเร่ง คลัช แฮนด์เดิลบาร์และกระจก
-สภาพความสะอาดหม้อน้ำระบายความร้อน
-การทำงานของระบบกันสะเทือน
-บังโคลน และจุดยึดป้ายทะเบียน
-อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยอื่นๆ เช่น กันล้ม กันสะบัด ฯลฯ

2.สภาพความพร้อมของระบบเครื่องยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

สามารถนำรถไปตรวจเช็คได้ที่ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมทั่วไปใกล้บ้าน โดยให้ช่างทำการเช็คจุดต่างๆเช่น
-น้ำมันเบรก
-น้ำมันเครื่อง
-น้ำยาหล่อเย็นเครื่องยนต์
-แบตเตอรี่
-สภาพของโซ่และสายพาน
-ระบบเกียร์
-ระบบความปลดภัยเสริมต่างๆ เช่น ABS, Traction Control ฯลฯ

หากอุปกรณ์ใดในทั้งสองข้อที่กล่าวมาเสียหายหรือบกพร่อง เราต้องแก้ไขให้เรียบร้อย และทดสอบความพร้อมอีกครั้งก่อนออกเดินทางเพื่อให้มีความปลอดภัยมากที่สุด

เตรียมเส้นทาง

Kyjjbn.jpg

1.ตั้งจุดหมายปลายทาง และจุดพักรถระหว่างเส้นทาง

สิ่งที่สำคัญในขับขี่ทางไกลนอกจากจุดหมายปลายทางแล้ว จุดพักรถหรือจะแวะที่น่าสนใจระหว่างทางก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะรถเล็กรถใหญ่ควรจะวางแผนหยุดพัก เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถของผู้ขับขี่ พักเครื่องยนต์ พักระบบเบรกให้คลายความร้อนลงบ้าง และตรวจเช็คอุปกรณ์ต่างๆของตัวรถว่ายังสภาพดีพร้อมหรือไม่

2.ศึกษาสภาพเส้นทาง และสภาพอากาศ

โดยเราต้องวางแผนการเดินทางจากสภาพเส้นทางเป็นหลักเพื่อที่จะได้เตรียมอุปกรณ์ และเซตรถให้เหมาะสมกับเส้นทาง เราต้องคำนึงว่า จะเป็นถนนลาดยางตลอดหรือไม่ ลุยทางฝุ่นหรือเปล่า มีจุดใดมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากเกินไปหรือไม่ และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือ สภาพอากาศ โดยเราสามารหาข้อมูลการพยารณ์อากาศ ได้จากอินเตอร์เน็ตหรือมือถือ แต่ที่สำคัญอย่าลืมว่ายิ่งพยากรณ์ล่วงหน้านานเท่าไหร่ ผลพยากรณ์ก็จะมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นควรหมั่นตรวจเช็คการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่เสมอเพื่อลดวามเสี่ยงอันตรายให้น้อยลง

3.วางแผนน้ำมันเชื้อเพลิง

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ น้ำมันเชื้อเพลิง ยิ่งเป็นรถเล็กอาจจะต้องแวะเติมบ่อยกว่ารถใหญ่ ซึ่งเราสามารถถือโอกาสแวะพักและเติมน้ำมันที่ปั๊มได้ไปในตัวเพื่อประหยัดเวลาเดินทาง และเราควรวางแผนให้รัดกุมยิ่งขึ้นสำหรับเส้นทางที่มีปั๊มน้ำมันน้อยหรือห่างกันมากๆ โดยเราต้องคำนวณการใช้เชื้อเพลิงจากหลายๆปัจจัยด้วย เช่น สภาพการจรจร  สภาพของถนน ความสูงชันของเส้นทาง เป็นต้น

4.พกสมุดแผนที่

แน่นอนว่าในปัจจุบันเราสามารถหาข้อมูลเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพจากแผนที่ออนไลน์ เช่น Google Maps  แต่เนื่องจากอินเตอร์เน็ตที่เราใช้กันผ่านอุปกรณ์ต่างๆนั้น อาจจะไม่ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นหากเราเดินทางไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคยและอาจจะไม่มีสัญญานอินเตอร์เน็ต เราควรมีสมุดแผนที่ติดตัวไปด้วย และควรเป็นสมุดที่มีความทันสมัยที่สุดเพื่อความถูกต้องแม่นยำ

5.สอบถามข้อมูลจากผู้รู้ หรือคนท้องถิ่น

ข้อมูลจากบุคลลนั้นจะให้รายละเอียดที่มากกว่าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตอย่างแน่นอน ดังนั้นการสอบถามไว้บ้างก็ไม่เสียหาย และเราอาจจะได้ทราบถึงจุดต่างๆในเส้นทางเช่น จุดเสี่ยงที่อาจจะเกิดอันตราย จุดที่น่าแวะพักหรือเที่ยวชม เส้นทางลับนอกแผนที่ที่จะเพิ่มความน่าตื่นเต้นในการเดินทาง เป็นต้น

6.วางแผนเส้นทางสำรอง

ข้อนี้หากพอมีเวลาเพิ่มเติมเราสามารถวางแผนเส้นทางสำรองเพื่อเป็นทางเลือกได้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่อาจจะต้องหลีกเลี่ยงเส้นทางเดิม หรือเพื่อลดเวลาการเดินทาง จะทำให้เรามีแผนการเดินทางที่ยืดหยุ่นมาขึ้น

 

ประเมินการขับขี่ของตนเอง

KyjZbt.jpg

หลังจากที่เราทราบเส้นทางแล้วเราจะสามารถประเมิณการขับขี่ของเราได้ว่าควรจะใช้เวลาเท่าไหร่ จุดไหนต้องผ่อน จุดไหนต้องเร่ง และจุดไหนต้องระวังเพื่อให้ไปยังจุดหมายได้ในเวลาที่ต้องการ แต่ทั้งนี้ ก็ควรจะมีการเผื่อเวลาไว้สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด เช่น การจารจรติดขัด เส้นทางถูกปิด หรือบริเวณเสี่ยงที่จะหลงทางได้

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือช่วงเวลาที่เราใช้เดินทางควรจะเป็นเวลากลางวันเนื่องจาก สภาพการจราจรของประเทศไทยที่ต้องใช้เส้นทางร่วมกับรถมากมาย อีกทั้งต้องขับขี่ผ่านชุมชน หรือบางเส้นทางก็ไม่ค่อยมีผู้คนมากนัก ดังนั้นการขับขี่ในเวลากลางวัน และหลีกเลี่ยงการขับขี่ในเวลากลางคืนจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าหากเกิดเหตุสุดวิสัย ที่จะถึงจุดหมายในเวลากลางคืน เราควรจะมีการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยให้มีความปลอดภัยมากขึ้นในการขับขี่ เช่น หมวกกันน็อคต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน ไม่ควรใช้ชิลด์สีเข้มเกินไป อุปกรณ์ส่องสว่างรอบคันต้องใช้งานได้ปกติทุกจุด และมีความสว่างมากพอ ไฟหน้าส่องสว่างชัดเจนทั้งไฟต่ำ และไฟสูง หรืออาจจะติด ไฟโปรเจคเตอร์ เพิ่มเติมหากต้องการความสว่างมากขึ้น

 

จัดสัมภาระให้เหมาะสม

KyblRR.jpg

1.พกชุดปฐมพยาบาล และอุปกรณ์ซ่อมแซมฉุกเฉิน

อุบัติเหตุนั้นอาจเกิดขึ้นได้ แม้จะมีการวางแผนเป็นอย่างดี ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยบรรเทาเหตุการณ์ได้จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับอุปกรณเหล่านี้อันดับหนึ่งเสมอ ชุดปฐมพยาบาลควรมีอุปกรณ์รักษาอาการบาดเจ็บจาก อุบัตติเหตุบนท้องถนนเป็นหลัก เช่น กรรไกร สำลี ผ้าก๊อซ เทปพันแผล แอลกอฮอล์ล้างแผล น้ำเกลือล้างแผล น้ำสะอาด เบตาดีน ยาแก้ปวดเป็นต้น ส่วนอุปกรณ์ซ่อมแซมรถ อุปกรณ์หลักที่ควรมีได้แก่ ชุดปะยางฉุกเฉิน หรือ ยางในสำรอง ขึ้นอยู่กับชนิดของล้อรถ และควรมีชุดอุปกรณ์ถอดยางด้วย

2.พกอุปกรณ์กันฝน

ควรมีติดรถเสมอไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นแบบใด เพราะประเทศในเขตร้อนชื้นในบ้านเรานั้นมีโอกาสที่ฝนจะตกค่อนข้างบ่อย และยิ่งมีโอกาสมากขึ้นในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ป่าเขา หรือ ริมทะเล อุปกรณ์กันฝนจึงมีความจำเป็น เพื่อป้องกันสัมภาระ และสุขภาพของผู้ขับขี่

3.ข้อแนะนำการติดตั้งสัมภาระกับตัวรถ

3.1.ควรใช้อุปกรณ์ยึดติดที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการชำรุดของอุปกรณ์ระหว่างการขับขี่ และควรหมั่นตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอในช่วงพักรถระหว่างเดินทาง

3.2.ควรติดตั้งในจุดที่ไม่มีผลเสียต่อการควบคุมรถ โดยเฉพาะบริเวณแฮนด์เดิลบาร์ ไม่ควรมีอุปกรณ์มากเกินไป

3.3.ควรติดตั้งสัมภาระให้อยู่ใกล้จุดศูนย์ถ่วงของรถมากที่สุด ไม่ควรวางน้ำหนักไว้ด้านหน้าหรือท้ายมากเกิดไป และไม่ควรเทน้ำหนักสัมภาระไปฝั่งซ้ายหรือขวาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะจะทำให้รถเสียสมดุลและการควบคุม

 

เก็บข้อมูลสำคัญ

Kybo60.jpg

1.หาข้อมูลตำแหน่ง และเบอร์โทรติดต่อศูนย์บริการในเส้นทาง

เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน หากจำเป็นต้องนำรถเข้าศูนย์บริการด่วน และได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

2.หาเบอร์โทรศัพท์ช่าง และบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน

ในบางเส้นทางอาจจะไม่มีศูนย์บริการ แต่เราสามารถหาข้อมูลของช่าง หรือบริการฉุกเฉินท้องถิ่นได้ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรเตรียมข้อมูลของช่างหรือบริการฉุกเฉินที่เรารู้จักไว้

3.ใช้เครื่องติดตามผ่านอินเตอร์เน็ต หรือดาวเทียม

เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆเพื่อส่งตำแหน่งของเราให้คนทางบ้านได้รับทราบ หากเกิดอุบัติเหตุและเราหมดสติไป หรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถขอความช่วยเหลือด้วยตัวเองได้ อุปกรณ์จะช่วยส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือได้ หากเราขาดการติดต่อ หรือหยุดนิ่งกับที่นานเกินไป

 

สำหรับการเตรียมตัว และอุปกรณ์ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับทุกๆสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เราจัดการได้ทุกสถานการณ์คือ “สติ” สติในการขับขี่ สติในการระวังตัว สติในการรักษากฎจราจร และการคำนึงถึงผู้ใช้ท้องถนนร่วมกัน ก็จะทำให้คุณสนุกกับการได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่คุณรัก ออกไปในสถานที่ที่สวยงาม ในเส้นทางที่ท้าทาย และกลับไปหาคนที่คุณรักได้อย่างปลอดภัย ทางทีมงาน GreatBiker ขอให้ทุกท่านปลอดภัย และมีความสุขในการเดินทางครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.rideapart.com , www.pexels.com , theridingcenter.com , www.bookmotorcycletours.com , www.bennettlawfirmmed.com , Djordje Petrovic