Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

ขี่บิ๊กไบค์ให้ “ได้” มันไม่ยาก แต่ขี่ให้ “เป็น” นั้นต้องทำยังไง???

BMW HP4 Race 2017

กับช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างนี้ เวลาเราขับขี่นั้นจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะบางทีสิ่งที่ไม่คาดฝันก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะกับหลายๆ คนที่ยังเป็นมือใหม่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ หรือที่บ้านเราเรียกว่าบิ๊กไบค์ วันนี้เรามีบทความที่อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ เกี่ยวกับการเพิ่มทักษะในการขี่บิ๊กไบค์ให้ดีมากยิ่งขึ้น เอาไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติจริงอีกที แต่จะให้ดีถ้ามีเวลาก็ไปลงเรียนพวกคอร์สเซฟตี้ด้วยก็จะเสริมกันได้เป็นอย่างดี เอาล่ะครับ ไปสำรวจด้วยกันเลยว่าตอนนี้เราอยู่ในระดับไหนแล้ว

โดยทักษะในการขี่บิ๊กไบค์นั้น จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ คือเรื่องของ “ทัศนคติ” และ “ร่างกาย”

ในส่วนแรกจะกล่าวถึงทัศนคติกันก่อน คำนี้มันไม่ใช่นามธรรมหรือว่าอะไรทั้งนั้น แต่แปลกันตรงๆ ตัวเลยก็คือเรื่องของการใช้สมองและจิตใจในการขับขี่รถนั่นเอง เพราะพวกมืออาชีพที่ขับขี่นั้นนอกจากทักษะทางด้านร่างกายที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือกรอบของทัศนคติและมุมมองในการขับขี่รถ หลายๆ ครั้งมันจะช่วยให้การตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีของคุณนั้นผ่านพ้นวิกฤตไปได้ มีรายละเอียดยังไงกันบ้าง ไปดูกันเลยครับ

blank

ความเยือกเย็น – แน่นอนว่านักบิดมืออาชีพพวกเค้าจะไม่ตื่นเต้นหรือหงุดหงิดในยามขับขี่รถ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆ หากว่าเราอยู่ในอารมณ์ที่ไม่ปกติ (เช่นกำลังโกรธกับอะไรสักเรื่อง) แล้วไปขึ้นควบเจ้าบิ๊กไบค์แล้วบิดออกไป นั่นเป็นการเริ่มต้นที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะอย่างนั้นแล้วเราต้องท่องจำข้อนี้ไว้ในใจ หากว่าสภาพอารมณ์ยังไม่พร้อมก็ให้ไปทำใจให้สงบนิ่งก่อน หรือไม่ก็เลือกที่จะเดินทางไปโดยวิธีอื่นเอา ด้วยความหงุดหงิดนั้นทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมรถลดลง หรือแม้แต่เราตื่นเต้นจนเกินไป (โดยเฉพาะกับมือใหม่) ยิ่งเมื่อเจอกับสิ่งเร้าหรือองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ บนท้องถนน โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุย่อมจะมีสูงกว่าปกติอยู่แล้ว การฝึกทำสมาธินั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในการขับขี่เจ้าบิ๊กไบค์

การตัดสินใจที่รวดเร็ว – สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการขับขี่แล้วนั้นพวกเค้าพร้อมที่จะรับมือกับ สถานการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งพร้อมจะเกิดขึ้นเสมอ สายตาของพวกเค้าจะวิเคราะห์สภาพของถนนตลอดเวลา ดูสภาพการจราจรในขณะนั้นๆ ทำให้สามารถรู้ว่าในแต่ละช่วงของการขับขี่ควรจะใช้ความเร็วอยู่ที่ประมาณ เท่าไหร่ ดังนั้นแล้วสำหรับมือใหม่ตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่ต้องเกิดจากการขับขี่จริงๆ ซึ่งแนะนำได้ว่าในช่วงที่เรายังมือไม่แข็งมากนั้นก็ไม่ควรจะห้าวเกินไป ไม่ว่าจะเป็นในย่านชุมชนหรือแม้แต่ทางโล่งก็ตาม เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดมันพร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ ค่อยๆ เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์กันไป หลีกเลี่ยงวิ่งตามรถใหญ่ โดยเฉพาะพวกรถบรรทุก หรือรถ SUV ที่มุมมองจากในรถอาจจะมองเห็นรถของเราได้ลำบาก เวลารถเหล่านี้จะเปลี่ยนเลนกระทันหันอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ เรียนรู้การใช้แตรหรือสัญญาณต่างๆ ให้ถ่องแท้ จนในที่สุดเราจะพัฒนาทักษะตรงนี้จนทำให้เราอ่านเกมได้แม่นยำและตัดสินใจรับ มือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น

blank

สัญชาตญาณ – ในการขับขี่รถบิ๊กไบค์นั้น มีโอกาสที่จะเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันอยู่เสมออย่างที่เราทราบกันดี แต่เหล่านักบิดที่มีประสบการณ์พวกเค้ารู้วิธีที่จะควบคุมรถให้ผ่านพ้นจาก สถานการณ์นั้นไปได้ เขาจะรู้จักฟีลลิ่งและนิสัยของรถเขาดี ซึ่งเกิดจากการที่ได้ขับขี่มันอย่างมากเพียงพอ ซึ่งถึงจุดหนึ่งแล้ว ร่างกายจะทำงานไปเองอย่างอัตโนมัติ ในการหักหลบ การเบรก การเชนจ์เกียร์ การใช้เอนจิ้นเบรก ฯลฯ ในเสี้ยววินาที โดยร่างกายจะทำงานไปก่อนที่สมองจะสั่งการด้วยซ้ำ เราสามารถทำอย่างนี้ได้โดยการใช้เวลาฝึกขับและเรียนรู้เกี่ยวกับรถของเราให้ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่จะลงมือออกทริปอย่างจริงจัง

blank

ความอดทนอดกลั้น – อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งเป็นเพราะว่านักบิดนั้นเร่งรีบมากเกินไป เช่นพยายามจะเลี้ยวรถด้วยความเร็วสูง แต่มุมโค้งนั้นอับจนเรามองไม่เห็นว่าข้างหน้าจะมีอะไรบ้าง หรือพยายามจะแซงรถยนต์ในสภาวะคับขัน หรือช่องในการแซงคับแคบเกินไป แม้กระทั่งการพยายามที่จะฝ่าไฟแดง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเราเองทั้งนั้น เหล่านักบิดที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าในแต่ละช่วงควรจะขับขี่ด้วยความเร็วเท่า ไหร่เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองเข้าไปเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การขับรถบิ๊กไบค์ที่ดีนั้นไม่จำเป็นจะต้องพยายามจะแซงในทุกจังหวะ แต่ต้องรอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมที่สุดแล้วจึงจะแซง นี่เป็นความแตกต่างของเหล่านักบิดผู้มีประสบการณ์ ความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการยกระดับทักษะ ของเราให้ดียิ่งขึ้น

blank

ความถ่อมตัว – เหล่านักบิดที่มีประสบการณ์นั้นรู้ตัวดีว่าพวกเขาเองเป็นเพียงแค่มนุษย์คน หนึ่ง ที่สามารถพลาดได้และตายได้ พวกเขาจะรู้จักลิมิตของรถตัวเองดีว่ามันทำอะไรได้แค่ไหน รวมไปถึงการประมาณตนในทักษะส่วนตัวของเขาเองด้วย เขาจึงจะไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยเด็ดขาด เช่นการพยายามแบนโค้งด้วยความเร็วสูงในยามที่ฝนตกแล้วถนนลื่น หรือพยายามขับขี่ด้วยความเร็วเกินพอดีในย่านชุมชน วลีหนึ่งยังคงใช้ได้จนถึงทุกวันนี้คือ “ผมขี่รถไม่เจ๋งหรอก แต่คนที่เจ๋งกว่าผมนั้นตายไปหมดแล้ว ผมขี่ไม่เจ๋งจึงรอดมาได้ถึงทุกวันนี้”

blank

และส่วนต่อมาที่เราจะพูดถึงกัน ก็คือทักษะในส่วนของร่างกาย ซึ่งสำคัญไม่แพ้ทัศนคติเลย เพราะการที่เราจะเป็นนักบิดที่มีความเชี่ยวชาญนั้นนั้นไม่สามารถเป็นได้โดย อัตโนมัติ หรือจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งการขับขี่แบบผิดหลักการซ้ำๆ เป็นเวลาหลายๆ ปี (เช่นหลายๆ คนยังกำคลัทช์เวลาเข้าโค้งอยู่เลย ทั้งที่ขี่รถบิ๊กไบค์มาก็หลายปีแล้ว) ก็ไม่สามารถจะช่วยให้เราพัฒนาในตรงนี้ได้ อย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือเบสิก ถ้าเริ่มต้นได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง มันจะช่วยให้การพัฒนาทักษะนั้นเป็นไปได้โดยง่าย จึงอยากจะย้ำอีกครั้งว่าการไปลงเรียนในพวกคอร์สเกี่ยวกับความปลอดภัยยังเป็น หนึ่งในสิ่งที่จำเป็นอยู่ หากว่ามีโอกาส หรือหากไม่มีมีโอกาส จะฝึกฝนตนเองด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอก็ย่อมได้เช่นกัน

ทีนี้เราจะมาดูกันเป็นส่วนๆ เลยดีกว่า กับวิธีการเพิ่มทักษะในส่วนของร่างกาย (การปฏิบัติ)ว่ามีอะไรกันบ้าง

blank

ความหลากหลาย – ขอยกคำพูดในวงการนักบินมาเกริ่นก่อน พวกเค้าได้กล่าวเอาไว้ว่า “มันมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่าง การขับเครื่องบินเป็นเวลา 1,000 ชั่วโมง และ การขับเครื่องบินแค่ครั้งละ 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 1,000 ครั้ง” เห็นภาพชัดเจนเลยใช่มั้ยครับ ในเรื่องของการขี่บิ๊กไบค์ก็เช่นกัน ถ้าเราแค่ขี่รถของเราในเส้นทางเดิมๆ ซ้ำๆ ถึงเวลาจะผ่านไปนานหลายปี เราก็จะไม่ได้เรียนรู้ทักษะอะไรใหม่ๆ มากเท่าไหร่นัก เหล่านักบิดผู้เชี่ยวชาญจะพยายามมองหาเส้นทางใหม่ๆ ที่ท้าทายอยู่เสมอ เช่นการขับขี่ในเส้นทางที่คดเคี้ยวและสูงชันของภูเขาต่างๆ, ในสนามแข่ง, ในสภาพการจราจรที่แตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งพวกเส้นทาง off-road ที่ไม่หนักหนาจนเกินไปนักบ้าง หากว่ารถของเราสามารถไปได้ รวมไปถึงไม่ควรจะจำกัดตัวเองอยู่กับรถแค่แนวเดียว เช่นคุณขี่แค่รถแนวสปอร์ตมาตลอด หากว่ามีโอกาสพยายามลองเรียนรู้ที่จะขี่รถในแนวทางที่แตกต่างออกไปอย่างพวก รถทรง ดูอัลเพอร์โพส (แนวเอนกประสงค์), รถวิบาก, รถครูเซอร์ หรือแม้กระทั่งพวกรถแนวบิ๊กสกู๊ตเตอร์ด้วย ทีนี้ทักษะของคุณมันก็จะไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในกรอบอีกต่อไป

blank

การฝึกฝน – หัวข้อนี้เกี่ยวพันกับหัวข้อความถ่อมตนในภาคแรก นักบิดผู้เชี่ยวชาญจะไม่ผยองมากจนเกินไป พวกเขารู้ดีถึงแม้ว่าเขาจะมีทักษะในระดับที่ดีแล้วก็ตาม แต่มันก็มีวันขึ้นสนิมได้หากขาดการฝึกฝนและใช้งานจริงเป็นเวลานานเกินไป หากมีเวลาพวกเขามักจะหาลานว่างๆ เพื่อทำการฝึกฝนต่างๆ อย่างเช่นการเบรกแบบกระทันหัน เบรกให้หนักๆ การทำโดนัท การทำเลข 8 หรือลงสนามจริงๆ เลยเพื่อฝึกซ้อม สิ่งพวกนี้ไม่ได้ทำกันเอามันส์เท่านั้น แต่มันจะช่วยให้สัญชาตญาณในร่างกายของเราทำงานได้ดีที่สุดยามเจอกับ สถานการณ์คับขัน หากว่าใครไม่เคยไปลงซ้อมในสนามแข่งจริงๆ เลยสักครั้ง ก็ควรที่จะหาโอกาสไปลองดู เพราะว่ามันค่อนข้างที่จะปลอดภัยต่อการฝึกฝนการขับขี่ในลักษณะต่างๆ ได้เป็นอย่างดี (แต่ก็ต้องไม่ประมาทจนเกินไป แม้ว่าจะอยู่ในสนามก็ตาม)

blank

การเรียนรู้ – เหล่านักบิดผู้เชี่ยวชาญจะทำการเรียนรู้ทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์คู่ใจของเขา, อุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ ของเขา ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะละเลยไม่ได้เหมือนกัน แน่นอนว่าเราเองอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องยานยนต์แบบลึกซึ้ง แต่อย่างน้อยทุกอย่างที่อยู่ในคู่มือของรถเราควรที่จะอ่านและทำความเข้าใจ มันให้ถ่องแท้ (บางคนแทบไม่เคยจะเปิดอ่านเลย) ตำแหน่งของพวกชิ้นส่วนต่างๆ ในรถของเรา พวกออพชั่นหรือสัญญาณเตือนต่างๆ บนหน้าปัด เราเข้าใจมันทั้งหมดหรือยัง และแม้กระทั่งในเวลาที่จะเปลี่ยนยาง เพิ่มอุปกรณ์ตกแต่ง หรือหาซื้ออุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ เราควรที่จะให้เวลากับมันมากๆ ก่อนตัดสินใจซื้อสักรุ่นหนึ่งมาใช้ พวกบทรีวิวต่างๆ ก็ไม่ควรจะอ้างอิงจากเพียงแค่แหล่งเดียวเท่านั้น สมัยนี้อินเตอร์เน็ทช่วยให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

blank

ความสม่ำเสมอ – แน่นอนว่าคนเราแต่ละคนมีเวลาว่างไม่เท่ากัน แต่หัวข้อนี้ชี้ชัดให้เห็นจากตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถึงแม้กับนักบิดที่เชี่ยวชาญอย่างมากก็ตาม หากว่าเขาใช้งานมันแต่ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ห่างหายจากการออกทริปหรือเล่นโค้งไปเป็นเวลานานเป็นปี ยามที่กลับมาออกทริปอีกครั้งเวลาที่จะแบนโค้งร่างกายย่อมที่จะฝืนๆ ไปบ้าง แม้ว่าจะเป็นโค้งเดิมๆ ที่เคยออกทริปมาเมื่อปีก่อนก็ตาม ดังนั้นแล้วเวลาเราห่างหายจากกิจกรรมแบบนี้ไปเป็นเวลานานๆ หากว่าพอมีเวลาเตรียมตัวก่อนที่จะออกทริปแบบเป็นจริงเป็นจังก็สามารถฝึกซ้อม เตรียมตัวให้มากขึ้น ก็จะช่วยได้เยอะ

blank

การสะสมระยะทาง – นี่เป็นหัวข้อสุดท้ายในการเพิ่มทักษะในภาคปฏิบัตินี้ มนุษย์เราเรียนรู้จากกระบวนการฝึกฝนที่ถูกต้องและหลากหลายสถานการณ์อย่าง สม่ำเสมอ ขอย้ำอีกครั้งว่าทฤษฎีที่เราอ่านและเรียนรู้กันมาจนหลับตาท่องได้ขึ้นใจ มันจะไม่มีประโยชน์เลยหากขาดการนำไปใช้งานจริงๆ และต้องใช้งานบ่อยๆ อย่างเพียงพอด้วย ยิ่งเราขับขี่จริงๆ มากขึ้นมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะกลายเป็นนักบิดผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น จงอย่าหยุดสะสมประสบการณ์ในการขับขี่

บทสรุป

การที่เราจะเป็นนักบิดที่เชี่ยวชาญนั้นมีความแตกต่างในกระบวนการของแต่ละคน บางทีเราอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าเพื่อนของเราที่เริ่มต้นฝึกฝนมาด้วยกัน ด้วยปัจจัยและเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลอย่างที่กล่าวมาในแต่ละหัวข้อข้างบน ดังนั้นแล้วอย่าท้อถอยหรือรีบร้อนจนเกินไปในการเรียนรู้ แต่สนุกไปกับการขับขี่มัน ตัวคุณเองเท่านั้นที่จะรู้ว่าคุณขับขี่ได้ในระดับไหนแล้ว และค่อยๆ ปรับปรุงให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ ทาง GreatBiker หวังว่าบทความเรื่องนี้จะพอเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง แน่นอนว่าเราเองก็ไม่ได้เป็นนักบิดผู้เชี่ยวชาญอย่างถึงที่สุด ทางเราเองก็ต้องเรียนรู้ไปกับมันตลอดเวลา ยิ่งกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของรถบิ๊กไบค์ที่ก่อกำเนิดขึ้นแทบจะทุกปี หากว่าเพื่อนๆ ท่านใดมีข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรืองทักษะในการขับขี่บิ๊ก ไบค์นั้นก็สามารถแจ้งมาให้เรารู้ได้ ในโอกาสต่อไปทางเราจะได้นำมันมาเขียนเป็นแนวทางอีก

ขอบคุณภาพจาก mvagusta.com.au bikebandit.com zastavki.com thebikeclub.co.za toptenpack.com avto.goodfon.su mummy-mayhem.com alphacoders.com wallpaperscraft.com shotphotos.com customcoversuk.co.uk hdwallpaperbackgrounds.net wired.com