Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

แนะนำรายละเอียดและกติกาการแข่งขัน Suzuka 4 Hours รายการระดับนานาชาติครั้งแรกของทีมแข่งสายเลือดไทยแบบ 100%

Untitled-2

1498300021_1

หลังจากที่ทีมแข่งขันสายเลือดไทย 100% อย่างทีม “เอ.พี. ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์” ได้ออกมาแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างทีมที่มีคนไทยอยู่ในทีม 100 % และเข้าร่วมในการแข่งขันระดับนานาชาติ และได้จับรายการแข่งขัน Suzuka 4 Hours เป็นเวทีแรกที่ทีมแข่งสัญชาติไทยทั้งทีมได้ร่วมลงทำการแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันมีกฎกติกาที่แตกต่างจากการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบทั่วไปอยู่ค่อนข้างมาก วันนี้ทางทีมงาน GreatBiker จะขอพาเพื่อนๆ มาทำความรู้จักกับการแข่งขันรายการนี้ในแบบฉบับของพวกเราที่เข้าใจง่าย

blank

blank

ทำความรู้จักกับสนาม Suzuka Circuit ประเทศญี่ปุ่น
สนาม Suzuka Circuit นั้นถือว่าเป็นสนามแข่งขันเต็มรูปแบบสนามแรกของประเทศญี่ปุ่น โดยแนวคิดของ Soichiro Honda ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Honda ที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี อยากที่จะมีสนามที่ใช้ในการทดสอบรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ของแบรนด์ Honda จึงได้ริเริ่มความคิดที่จะสร้างสนามแห่งนี้ตั้งแต่ปี 1950 ซึ่งสนามแห่งนี้ถูกออกแบบโดย John  Hugenholtz  นักออกแบบสนามแข่งชื่อดังชาวเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสนามแห่งนี้มีความพิเศษที่สามารถปรับเปลี่ยน Layout ของสนามได้ถึง 8 รูปแบบซึ่งมีเพียงไม่กี่สนามบนโลกใบนี้ที่สามารถทำได้ โดยสนามแห่งนี้สามารถใช้ทำการแข่งขันได้ทั้งรถยนต์ รถสูตรหนึ่งหรือ F1 และมอเตอร์ไซค์ โดยความยาว 1 รอบสนามจะเท่ากับ 5.821 กิโลเมตร มีจำนวนโค้งทั้งสิ้น 17 โค้ง และมีความลาดชันที่แยกย่อยได้หลายระดับ

กติกาการแข่งขัน Suzuka 4 Hours
ต้องบอกเลยว่ากติกาการแข่งขันของรายการนี้แตกต่างกับรายการที่เราคุ้นเคยอย่าง MotoGP และ WSBK อย่างชัดเจน โดยสองรายการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะกำหนดจำนวนรอบการแข่งขันและเอาผู้ที่เข้าเส้นชัยในลำดับ 1 – 3  ซึ่งแตกต่างกับ Suzuka 4 Hours ก็ตรงที่มีเวลาในการแข่งขันให้ 4 ชั่วโมง โดยจำนวนรอบทั้งหมดของการลงไปทำการวิ่งนั้นจะกำหนดผลแพ้ชนะ

blank

รถที่ใช้ในการแข่งขัน
Suzuka 4 Hours นั้นมีกฎข้อบังคับเรื่องของ Specs รถที่ใช้ในการลงแข่งจะต้องมีขนาดของกระบอกสูบไม่เกิน 600 ซีซี ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนรถและยาง ระหว่างการแข่งขัน ตัวรถสามารถทำการซ่อมแซมได้แต่ต้องทำการซ่อมแซมเฉพาะใน Pit ของทีมเท่านั้นหากเกิดกรณีล้มขณะทำการแข่งขันและรถไม่สามารถขับขี่ได้ตามปกติต้องทำการเข็นเข้ามาด้วยตัวนักแข่งเอง แล้วทำการซ่อมแซมและสามารถลงมาทำการแข่งขันต่อได้ โดยทีม เอ.พี ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ได้เลือกใช้บริการของ Honda CBR 600RR ในการลงทำการแข่งขันในครั้งนี้

blank

ยางที่ใช้ในการแข่งขัน
ยางที่ใช้ในการแข่งขันนั้น สามารถใช้ยาง Dry Tyre ได้ 2 Set คือในรอบ Qualify 1 set และรอบการแข่งขันจริงอีก 1 Set โดยห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนยาง ยกเว้นกรณีที่เกิดฝนตก สามารถเข้ามาเปลี่ยนเป็น Wet Tyre ได้ โดยช่วง Pre-Start จะมีเจ้าหน้าที่ของสนามมาทำการตรวจสอบยางก่อนการแข่งขันและทำเครื่องหมายไว้

blank

ทีมแข่งขัน
รูปแบบของทีมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1.Inter และ 2.National โดย 1 ทีมสามารถใช้นักแข่งลงทำการแข่งขันได้ 2 คน และมีตัวสำรองอีก 1 คน ต่อรถ 1 คัน โดยจะทำการเปลี่ยนกันขับขี่คนละกี่รอบก็ได้ โดยนักแข่งมือหนึ่งจะต้องติดสัญลักษณ์สีแดง มือสองสีเหลือง และตัวสำรองสีขาว คาดที่บริเวณต้นแขนทั้งสองข้าง สามารถลงทะเบียนลูกทีมได้ 1- 5 คน ต่อ 1 ทีม และสามารถรับจำนวนทีมในการแข่งขัน 1 ครั้งได้สูงสุด 70 ทีม สามารถปรับเปลี่ยนนักแข่งได้ตามที่ลงทะเบียนไว้ โดยสามารถเข้ามาเปลี่ยนตัวได้ที่ Pit ของทีมตนเองห้ามเปลี่ยนในสถานที่อื่นโดยเด็ดขาด กรณีที่นักแข่งมือหนึ่งหรือมือสองได้รับบาดเจ็บ ตัวสำรองถึงจะได้รับสิทธิ์ในการลงแข่ง

การเข้า Pit
หลังจากทำการแข่งขันไปแล้ว นักแข่งสามารถขับเข้ามาเติมน้ำมัน เปลี่ยนตัวนักแข่งหรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหายได้ แต่ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนรถและยางโดยเด็ดขาด Pit Lane มีการจำกัดความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยน้ำมันทางผู้จัดการแข่งขันมีให้เลือกใช้ 3 รูปแบบประกอบด้วย Shell V- Power , Cosmo Super Magnium และ Shell Regular Gasoline ก่อนที่จะทำการเติมน้ำมันนักแข่งจำเป็นต้องดับเครื่องยนต์และลงจากตัวรถ โดยสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ใหม่ได้อีกครั้งหลังจากเติมน้ำมันเสร็จสิ้นและต้องนั่งอยู่บนตัวรถแล้วเท่านั้น

การ Qualify และการฝึกซ้อม
การ Qualify หากอันดับในการออกสตาร์ทนั้นจะใช้เวลาที่ดีที่สุดของแต่ละรอบที่ทำการทดสอบมาเฉลี่ยหาคะแนน หากกรณีที่มีคะแนนเท่ากันจะนับเอาเวลาที่ดีที่สุดมาเปรียบเทียบและให้ลำดับในการสตาร์ทไป โดยผู้ทำการแข่งขันจะต้องลงทำการทดสอบอย่างน้อย 1 รอบสนาม โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 30 นาทีในการทดสอบ

blank

รูปแบบของการออกสตาร์ท
การออกสตาร์ทของ Suzuka ทั้งในรายการ 4 Hours และ 8 Hours นั้นจะใช้การสตาร์ทแบบ Le Man Start โดยตัวรถนั้นจะต้องจอดเรียงกันด้านข้างของเส้นสตาร์ทและนักแข่งจะต้องอยู่ฝั่งตรงข้ามแล้วทำการวิ่งหลังจากได้สัญญาณปล่อยตัว โดยผู้ที่จะทำการออกสตาร์ทนั้นต้องเป็นนักแข่งมือหนึ่งหรือคนที่ทำการลงทะเบียนไว้ในรอบการ Qualify และเครื่องยนต์จะต้องถูกทำการสตาร์ทด้วยตัวนักแข่งเอง ห้ามมีการช่วยเหลือจากทีมงานใดๆ ทั้งสิ้น  ซึ่งทีมงานจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้เพียงพยุงรถที่จอดอยู่ให้พร้อมในการออกสตาร์ทเท่านั้น

กฎข้อห้ามในการแข่งขัน

ผู้ขับขี่ต้องไม่ทำการแทรกแซงนักแข่งทีมอื่นอย่างจงใจ การเปลี่ยนเลนในทางตรงผ่านแกรนด์แสตนด์ อนุญาตให้เปลี่ยนได้ในช่วงทางตรงระหว่างโค้งที่ 14 ถึงโค้งที่ 15 เท่านั้น ยกเว้นกรณีที่ต้องการแซงรถที่อยู่ด้านหน้า หากมีการเปลี่ยนเลนกระทันหัน ทางทีมงานจะต้องพิจารณาโทษตามความเหมาะสม ห้ามมีการประท้วงใดต่อการตัดสินของคณะกรรมการ หากมีการฝ่าฝืน โทษสูงสุดคือการปลดออกจากการแข่งขันทันที

blank

ทั้งหมดนี้เป็นกติกาที่สำคัญๆ ที่ควรรู้ก่อนรับชมการแข่งขัน Suzuka 4 Hours ที่ทางทีมงาน GreatBiker นำมาฝากเพื่อนๆ กัน อย่างไรก็ตามต้องขอแรงใจช่วยกันลุ้น ช่วยกันเชียร์ทีมแข่งขันสัญชาติไทย 100% อย่างทีม “เอ.พี ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์” ในการแข่งขัน Suzuka 4 Hours ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 29 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ซึ่งทาง GreatBiker ก็จะเดินทางไปติดตามและรายงานผลการแข่งขันกันถึงขอบสนาม แบบเจาะลึกและรวดเร็วตามแบบฉบับของ GreatBiker เช่นเคยครับ รอติดตามกันได้ทั้งทางหน้าเว็บไซต์ และ Facebook Fanpage https://www.facebook.com/greatbikerfanpage/