Banner-Yamaha-Motorshow-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Motorshow-2024-400x300.gif

Traction Control, Slipper Clutch, Launch Control ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คืออะไร?! อธิบายแบบเข้าใจง่ายที่สุดในสามโลก

สำหรับในยุคที่รถมอเตอร์ไซค์มีมากมายหลายรุ่นในโลกเราตอนนี้ และมันไม่ได้มีประเด็นแค่เรื่องของความจุ cc เครื่องยนต์, แรงม้า และทอร์คเพียงเท่านั้น แต่ว่ามันพ่วงมาด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่เริ่มจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราจะได้เห็นคำศัพท์แปลกๆ มากมายตามข่าวหรือรีวิวต่างๆ วันนี้ทาง GreatBiker.com จะขอรวบรวมความหมายและประโยชน์ของออพชั่นต่างๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ กัน

Traction Control (แทรคชั่นคอนโทรล) – อันนี้สามารถแปลให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีนั่นเอง ตรงนี้ทำงานยังไง ก็คือว่าปกติแล้วบางจังหวะ มีโอกาสที่ล้อหน้าและล้อหลังของรถมอเตอร์ไซค์เรานั้นจะหมุนไม่สัมพันธ์กันได้ เนื่องจากวิ่งไปบนถนนที่เปียกหรือแม้กระทั่งมีฝุ่นเกาะอยู่ ทำให้เกิดอาการลื่น จนทำให้เสียการทรงตัวได้ ระบบ Traction Control นี้เองจะช่วยตัดกำลังของเครื่องยนต์เพื่อทำให้ล้อหลังไม่หมุนฟรี และสามารถกลับมายึดเกาะกับพื้นถนนได้ตามเดิม ช่วยให้เรากลับมาควบคุมรถได้ตามปกติอีกครั้ง และรถไม่ล้มนั่นเอง

9fjgCy.jpg

Slipper Clutch (สลิปเปอร์คลัทช์) – อันนี้เป็นอีกหนึ่งระบบที่รถบิ๊กไบค์ในปัจจุบันนี้นิยมใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ มันคืออุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันท้ายรถไม่ให้ปัด และล้อรถไม่ให้ล็อกขณะที่เรากำลังทำการเปลี่ยนเกียร์นั่นเอง ลองนึกภาพในปกติแล้วเวลาที่เราลดเกียร์เกียร์ในขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูงๆ จะมีอาการกระตุกเกิดขึ้น จนบางครั้งอาจจะทำให้เสียจังหวะในการเข้าโค้งหรือทรงตัวได้ เจ้า Slipper Clutch นี่แหล่ะที่จะช่วยให้การจับตัวของแผ่นคลัทช์นั้นไม่สนิท 100% ทุกแผ่น แต่จะจับตัวแค่ประมาณสักครึ่งหนึ่งเท่านั้น ทำให้เกิดการลื่นในระหว่างที่จับตัวกันของแผ่นคลัทช์ ซึ่งก็จะทำให้ตัวรถนั้นไม่กระตุกเวลาเราเปลี่ยนเกียร์ในความเร็วสูงนั่นเอง ซึ่งจะเห็นประโยชน์ของมันอย่างมากในรถที่มีทอร์คโหดๆ และเอนจิ้นเบรกหนักๆ

2018_YAM_YZF1000R1SPL_EU_BWM2_ACT_001-55588

Quick Shifter (ควิกชิฟเตอร์) – อธิบายง่ายๆ ก็คือทำให้เราสามารถเปลี่ยนเกียร์รถได้โดยไม่ต้องกำคลัทช์นั่นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วรถปกติทั่วไปที่ไม่มีอุปกรณ์ตัวนี้ก็สามารถเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัทช์ได้ หากว่าเปลี่ยนในจังหวะที่รอบนั้นเหมาะสม แต่ว่ายังไงก็ตามมันจะยังมีอาการกระตุกและทำให้เกิดการสึกหรอของเครื่องยนต์ได้มากกว่าการกำคลัทช์เข้าเกียร์ตามปกติ และเราเองก็ต้องคอยผ่อนคันเร่งเวลาจะเปลี่ยนเกียร์อยู่ดี แต่เจ้า Quick Shifter นี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนเกียร์แบบไม่บีบคลัทช์กันได้โดยไม่ต้องกังวลถึงรอบเครื่องที่เหมาะสม และไม่ต้องผ่อนคันเร่งด้วย อ่านมาถึงตรงนี้คงจะเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า มันจะมีประโยชน์สูงสุดกับรถแข่งในสนามที่ต้องการทำความเร็วสูง โดยไม่ต้องสะดุดกับการกำคลัทช์ให้รอบตกหรือต้องคอยผ่อนคันเร่งนั่นเอง

Launch Control (ลอนซ์คอนโทรล) – เป็นระบบที่จะช่วยเซ็ทรอบในการทำงานเริ่มต้นตั้งแต่ตอนรถนิ่งๆ ก่อนจะบิดคันเร่งกันเลย ว่าจะให้รอบของเครื่องยนต์นั้นเริ่มทำงานที่รอบเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่นรถบิ๊กไบค์คันหนึ่งได้เซ็ท Launch Control ไว้ที่ 6,000 รอบต่อนาที นั่นก็หมายความว่าหลังจากที่เราสตาร์ทเครื่องแล้วก็เปิดคันเร่งไปแบบปกติ ตัววัดรอบก็จะวิ่งไปที่ 6,000 รอบในทันที (ช่วยให้เราไม่ต้องคอยเบิ้ลเครื่องในขณะที่จอดอยู่ก่อนทำการวิ่ง เพื่อเรียกรอบ) หลังจากนั้นรถเราก็จะได้แรงม้าและทอร์คในระดับ 6,000 รอบตั้งแต่ทีแรกเลย

Engine Brake (เอนจิ้นเบรก) – แน่นอนว่าศัพท์นี้หลายๆ คนนั้นย่อมรู้จักมันเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเจ้า Engine Brake นี้ นั่นก็คือยังเข้าใจผิดว่าเอนจิ้นเบรกจะทำงานต่อเมื่อเราลดเกียร์ลงมา ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเอนจิ้นเบรกจริงๆ แล้วแค่เราทำการผ่อนคันเร่งจนสุด มันก็จะทำงานแล้ว เช่นรถเราวิ่งมาด้วยความเร็วสูงๆ แล้วแค่เราทำการยกคันเร่งจนหมดปลอก ตัวเครื่องยนต์ก็จะเกิดแรงหน่วงขึ้นมาตามธรรมชาติ (หรือที่เรียกกันว่าการกลับหลังของเครื่องยนต์นั่นเอง) ทำให้รถเราชะลอตัวช้าลง ซึ่งพลังของเอนจิ้นเบรกนั้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับแรงม้าของเครื่องยนต์รถเรานั่นเอง ยิ่งแรงม้ามากเพียงใด เอนจิ้นเบรกในการชะลอตัวของรถก็จะมากตามเท่านั้น เป็นการแปรผกผันกัน สังเกตว่ารถในระดับ 1,000cc นั้นใช้เอนจิ้นเบรกทีก็แทบจะสะดุดกันเลยทีเดียว (หากว่าวิ่งมาเร็วมากๆ) ซึ่งเจ้าเอนจิ้นเบรกนี้ที่ได้ใช้กันบ่อยจริงๆ ก็คือการวิ่งลงเขา หรือว่าลงจากทางชันนั่นเอง เพื่อป้องกันไม่ให้รถเราไหลเร็วมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ส่วนมากจะใช้เอนจิ้นเบรกในเกียร์ 1, 2 หรือ 3 เท่านั้น (ขึ้นอยู่กับกำลังของรถแต่ละคันอีกที) และแน่นอนว่าในขณะที่เราต้องการใช้เอนจิ้นเบรก ห้ามกำคลัทช์เด็ดขาด เพราะการกำคลัทช์จะเป็นการปิดการทำงานของเอนจิ้นเบรกไปโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

จริงๆ แล้วยังมีคำศัพท์เกี่ยวกับระบบต่างๆ ของรถบิ๊กไบค์กันอีกหลายอย่าง แต่บางอย่างนั้นค่อนข้างจะเฉพาะสำหรับรถบางรุ่นเท่านั้น ไม่ค่อยจะได้พบเห็นในรถบิ๊กไบค์ทั่วไป ซึ่งเราจะนำเสนอกันในโอกาสต่อไปอีกที ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าไบค์เกอร์ทุกท่านกับบทความนี้

Banner-Yamaha-Safe--Save-2024-400x300.jpeg