Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

ทิศทางการพัฒนาเครื่องยนต์สองจังหวะรุ่นใหม่กับการแข่ง MotoGP

MotoGP 2 Stroke Engine

มนต์เสน่ห์ที่น่าหลงใหลของเครื่องยนต์แบบสองจังหวะนั้น เหล่าไบค์เกอร์หน้าใหม่อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงได้ คงจินตนาการกันถึงแค่ในแง่ของความแรงของเครื่องยนต์และความเร็วสูงตามคำบอกเล่าของคนในยุคก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องยนต์สองจังหวะมีมากกว่าหลายๆ คนคาดถึง เพราะนอกจากความแรงความเร็วของเครื่องยนต์แล้ว เสียงอันเป็นเอกลักษณ์และกลิ่นของควันที่ถูกส่องผ่านมายังปลายท่อไอเสียยังมีความแตกต่างในเครื่องยนต์สี่จังหวะที่เราคุ้นเคยอีกด้วย

1996 max biaggi

สำหรับ MotoGP แล้ว การเปลี่ยนถ่ายครั้งใหญ่เกิดขึ้นในปี 2002 ปีที่รถแข่งในระดับสูงสุดต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็นแบบ 4 จังหวะ ไม่เกิน 990 ซีซี จนก่อให้เกิดตำนานอย่างเครื่องยนต์ของ RC211V เครื่องยนต์ตัวแข่งของทีมปีกนก Honda ที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์แบบ 5 ลูกสูบ 20 วาล์ว ที่ถูกขับขี่โดย Valentino Rossi แชมป์โลกในปีนั้น

2002 Honda RC211V

ในปัจจุบันมีผู้ผลิตหน้าใหม่มากมายที่หันไปเอาดีในด้านการพัฒนาเครื่องยนต์แบบสองจังหวะ มากกว่าจะใช้เครื่องยนต์แบบในตลาดวงกว้าง มันไม่ใช่เพราะความอินดี้หรือความที่ยังปักใจอยู่กับอดีต แต่ในด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกลกว่าจุดเดิมที่เครื่องสองจังหวะเคยยืนอยู่นั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ซึ่งในตอนนี้ วิศวกรเครื่องยนต์รถสูตรหนึ่งหรือ F1 กำลังทำการพัฒนาเครื่องยนต์สองจังหวะรูปแบบใหม่ ที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่แฝงไว้ด้วยความแรงที่แทบจะไม่มีความแตกต่างจากเดิมในเรื่องของประสิทธิภาพ

ปัจจัยหลักของการพัฒนาในเรื่องนี้คือ “เชื้อเพลิง” แน่นอนว่าน้ำมันในสมัยก่อนกับยุคปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการสังเคราะห์หรืออัตราการเผาไหม้ที่สามารถกำหนดได้ตั้งแต่เริ่มกลั่น ทำให้เกิดการวิจัยเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่ถึงแม้จะถูกเผาไหม้ด้วยรูปแบบใดก็ส่งผลกระทบกับสภาวะแวดล้อมน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในทุกๆ วัน

NSR 500 Engine

แท้จริงแล้วเชื้อเพลิงสังเคราะห์ทางเลือกที่มีความสามารถในการลดการปล่อยมลพิษโดยใช้การผสมผสานของไฮโดรเจนการฉีดแรงดันสูงและการบำบัดไอเสียเป็นเพียงวิธีในการ “รีบูต” การเกิดใหม่ของเครื่องยนต์สองจังหวะ ซึ่งในแง่ของมุมมองของคนธรรมดานั้น อาจจะมองว่าเครื่องยนต์สองจังหวะนั้นมีการปล่อยก๊าชและควันพิษเป็นจำนวนมาก ซึ่งมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศที่ค่อยๆ จะบางลงในทุกๆ วัน

เครื่องยนต์สองจังหวะของ Honda

มีความเป็นไปได้ว่าการวิจัยนี้จะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมสำหรับการใช้งานจริงภายในปี 2025 อีกห้าปีนับจากนี้ ก็จะพอดิบพอดีกับการเปลี่ยนกฎครั้งใหม่ของ MotoGP ซึ่งไม่แน่ว่าเครื่องยนต์สองจังหวะอาจจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่บนพื้นฐานเทคโนโลยีแห่งอนาคต และดูเหมือนว่า MotoGP จะไม่ปฎิเสธความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ อีกทั้งยังส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเช่นการแข่งรถพลังงานไฟฟ้าอย่าง MotoE ไม่แน่ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นมันกลับมาโลดแล่นบนสนามอีกครั้ง แต่ถ้าให้มองในมุมมองของรถตลาดนั้น เทคโนโลยีมักจะมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงเสมอ ผู้บริโภคอย่างเราเตรียมตัวรับกันพร้อมแล้วหรือยังกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com