Banner Yamaha FINN 2024 1150x250
Banner Yamaha FINN 2024 400x300

KTM แบรนด์เบอร์ต้นๆ ของโลก ที่ยังคงต้องสู้กันต่อไปในไทย

blank

KTM ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์จากประเทศออสเตรีย ได้กลายเป็นแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ที่มีอัตราเติบโตในปี 2018 ที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ด้วยการเติบโตกว่า 30% จากปี 2017 ซึ่งเป็นผลโดยรวมจากการทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้นในยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ผลกำไรประจำปีของ KTM นั้นถูกจัดให้เป็นอันดับต้นๆ ของบริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในระดับโลก

TUKMIk.jpg

หากเราย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ KTM ในปี 1934 นั้น Johann Trukernpolz ได้เริ่มต้นกิจการจากการเปิดอู่ซ่อมรถ จนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง Johann ก็ได้เข้าไปมีส่วนในการดูแลกิจการธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ Kraftahrzeuge Trunkenpolz Mattighofen หรือ KTM ในปัจจุบัน และได้ร่วมสร้างรถมอเตอร์ไซค์คันแรกของค่ายกับเจ้า KTM R100 ในปี 1951 ด้วยจำนวนลูกจ้างเพียง 20 คนและกำลังผลิตรถมอเตอร์ไซค์ 3 คันต่อหนึ่งวันเท่านั้น ปัจจุบัน KTM มีโมเดลรถมอเตอร์ไซค์มากมายและมีจำนวนการผลิตและจัดจำหน่ายไปแล้วกว่า สี่แสนคันทั่วโลก พร้อมกับบุคลากรที่เพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งหมื่นคน มีบริษัทลูกในเครืออีก กว่า 10 แห่ง และมูลค่าของบริษัทที่สูงกว่า 100 ล้านยูโร

TUZYfV.jpg
1951 KTM RD100 รถมอเตอร์ไซค์คันแรกจากค่าย KTM

ในปี 2018 ที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ยอดเยี่ยมของ KTM หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการผลิตเครื่องยนต์ LC8c 2 ลูกสูบ 799 ซีซี ที่เปิดตัวอย่างสวยงามกับ 2018 KTM 790 Duke ซึ่งโมเดลนี้ก็เป็นแรงผลักดัน KTM ให้มีอัตราการเติบโตในตลาดโลกถึง 30% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2017 โดยเฉพาะการเติบโตแบบพุ่งทะยานในเอเชีย ทั้งตลาดอินเดีย และจีน ที่มีจำนวนประชากรที่เลือกใช้งานรถมอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก โดยที่ตลาดสำคัญอย่างทวีปยุโรป ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องแทบจะไม่มีอัตราการดรอปของยอดการขายในปี 2018 ที่ผ่านมา

TUZ0oE.jpg
2018 KTM 790 Duke

มีกระแสข่าวความเป็นไปได้ที่ KTM เองกำลังเจรจาในการซื้อ Ducati ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์แถวหน้าของโลก หลังจากที่ VW Group ผู้ถึงสิทธิ์ในการจำหน่ายรถของ Ducati ในตลาดโลก ประสบปัญหาหลังจากกรณี Diesel Gate เมื่อปี 2015 ส่งผลให้ VW Group นั้นต้องสูญเสียผลกำไรเพื่อเป็นการชดเชยจากปัญหานี้ ซึ่งทางออกของ VW Group ก็คือการขายกิจการบางส่วนออกไป เพื่อลดต้นทุนซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้นๆ และถูกมองว่าจะเป็นตัวที่ VW Group สามารถกลับมาพลิกฟื้นจากการขาดทุนในครั้งนี้ได้ และด้วยความที่ KTM ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์สามของผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในระดับโลก การควบรวมกิจการกับ Ducati ดูจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อย

TUKICl.jpg
2016 KTM RC125

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ KTM สามารถสร้างกำไรและผลการเติบโตได้มากขนาดนี้ สิ่งแรกก็คงไม่พ้นวิสัยทัศน์ของ Stefan Pierer หัวหน้าใหญ่ของ KTM ที่มองการณ์ไกล ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมที่เป็นเหมือนกับเรื่องเคยชิน หลังจากการฉีกธนบเดิมของทางค่ายด้วยการผลิตเจ้า LC8c 2 ลูกสูบบล็อกแรกที่มีความจุต่ำกว่า 1,000 ซีซี และการมอบประสบการณ์ในการขับขี่ที่เหนือกว่าด้วยอุปกรณ์ระดับท๊อปคลาสหากเปรียบเทียบกับรถมอเตอร์ไซค์ Segment เดียวกันในท้องตลาด สเปกที่จัดเต็มของ KTM ดูจะเหนือกว่าแบรนด์อื่นๆไปพอสมควร รวมไปถึงแนวทางการต่อยอดการพัฒนาโมเดลใหม่ๆ ของทางค่าย ที่กำลังเตรียมที่จะพัฒนาเครื่องยนต์ LC8c ไปเป็นเครื่องยนต์บล็อกใหม่ที่มีพิกัดไม่เกิน 500 ซีซี เป็นการเจาะกลุ่มตลาดรถในระดับกลางที่ชื่นชอบแนวทางการทำรถของ KTM ให้มีทางเลือกที่มากขึ้น และแนวทางในการให้ความสำคัญกับกีฬามอเตอร์สปอร์ต กับแนวทางการทำทีมแข่ง MotoGP ที่ประกาศชัดแล้วว่าต้องการตัวแชมป์โลก Marc Marquez ให้อยู่ในทีม KTM ในฤดูกาลหน้า

TUZ4VS.jpg
2016 KTM RC390

แต่การจัดเสปกแบบขั้นสุดนี้ก็เหมือนเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงเราในบางครั้ง เพราะในเมื่อราคาต้นทุนในการผลิตที่สูงตามสเปกที่ทางค่ายจัดมา ราคาจำหน่ายเองก็มีมูลค่าต่อคันที่สูงกว่าแบรนด์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะเห็นเป็นรูปเป็นร่างก็คือการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ที่มีเรื่องของกลไกภาษีนำเข้าในแต่ล่ะประเทศ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอินเดียเอง KTM ได้ร่วมมือกับ Bajaj บริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์อันดับต้นๆ ของประเทศในการผลิตรถคลาสต่ำกว่า 400 ซีซี และด้วยอัตราค่าแรงของประชากรอินเดียที่ต่ำอยู่แล้ว ผนวกกับการไม่ต้องเสียภาษีในการนำเข้ารถทั้งคัน ก็เลยทำให้ KTM ในประเทศอินเดียนั้นมีราคาจำหน่ายที่ถูกที่สุดในโลก

TUZBSn.jpg
2016 KTM 690 Duke

สวนทางกับหลายๆ ประเทศในเอเชียด้วยกันเองรวมไปถึงประเทศไทย เพราะไม่มีการตั้งฐานการผลิตอย่างจริงจัง ซึ่งประเทศไทยนั้นใช้การนำเข้าแบบ 100% ทั้งคันมาจากออสเตรียสำหรับรถบิ๊กไบค์ ส่งผลให้เกิดภาษีนำเข้า ซึ่งมีการคำนวณแบบหลายทอด จากราคามูลค่าตั้งต้นของสินค้า + อากรขาเข้า + ค่าธรรมเนียมพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน + ภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา + ภาษีสรรพสามิต + ภาษีเพื่อมหาดไทย ส่งผลให้การนำเข้ารถ 1 คันจะมีมูลค่าที่สูงถึงเกือบๆ 150% เลยทีเดียว เปรียบเทียบง่ายๆ กับการนำเข้า KTM 1290 Super Duke R ซึ่งมีราคาจำหน่ายในยุโรปอยู่ที่ประมาณ 610,000 บาท แต่พอเข้ามายังประเทศไทยแล้วเมื่อบวกกับการคำนวณภาษีและค่าการทำตลาดและผลกำไรแล้ว ราคาจำหน่ายของ KTM 1290 Super Duke R จะมีราคาจำหน่ายที่สูงถึง 1,375,000 บาทเลยทีเดียว

TUZdtv.jpg
2017 KTM 1290 Super Duke R

รูปแบบของการเสียภาษีเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกบริษัทที่ไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือการตั้งฐานผลิตในประเทศไทย เหมือนกับผู้ผลิต 4 ค่ายจากประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึง Ducati, Triumph หรือแม้กระทั่ง Harley – Davidson ที่พึ่งจะกระหน่ำลดราคาโมเดลต่างๆ แบบถูกลงกว่า 40-60% เลยทีเดียว ดังนั้นล้วหากผู้ที่จะคิดว่าการทำตลาดรถนำเข้าในประเทศไทยนั้นเป็นอะไรที่ยากมาก หากฐานหรือว่าสายป่านของตัวเองยาวไม่พอ

TUZz5Q.jpg
2018 KTM 125 Duke

ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า บ.จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ภายใต้แบรนด์ GPX จะเข้ายื่นข้อเสนอกับทาง KTM ด้วยการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย เหมือนกับที่ KTM ได้ร่วมมือกับ Bajaj และได้รับสิทธิในการจัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ของ KTM ในประเทศไทย ซึ่งหากเรามองไปที่ความพร้อมของทาง จีพี มอเตอร์ แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ ด้วยการขยายโรงงานใหม่ ที่พร้อมในการรองรับกำลังผลิตที่มากขึ้น ร่วมกับแบรนด์ใหม่อย่าง CF Moto ที่ KTM ก็เคยมีสัมพันธ์อันดีกับค่ายนี้ในตลาดประเทศจีน และ Lambertta สกู๊ตเตอร์ระดับตำนานของอิตาลี ซึ่งหากเรามองไปที่ภาพรวมของการร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายก็จะได้ผลประโยชน์ในภาพรวมทั้งในเรื่องของการพัฒนาโมเดลใหม่ กำลังในการผลิตที่เพิ่มขึ้น การขยายตลาดที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า รวมไปถึงราคาจำหน่ายต่อหน่วยที่จะลดลงไปกว่า 40 % จากราคาปัจจุบัน

TUZfig.jpg
2018 KTM 1290 Super Adventure

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ของ KTM ในตลาดโลกนั้นเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงเลยแม้แต่น้อย ยังคงมีการพัฒนาโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและมีแผนการในการควบธุรกิจประเภทเดียวกันอีก ส่วนในประเทศไทยนั้น แฟนๆ KTM อาจจะต้องอดใจรอกันต่อไป ด้วยความที่ยังมีกลุ่มแฟนที่ให้การสนับสนุนในตัวแบรนด์ การหาผู้แทนจำหน่ายหรือผลิตในบ้านเรานั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ที่สูงกว่าปล่อยให้แบรนด์นี้ตายไปจากสาระบบของวงการมอเตอร์ไซค์ไทย