Banner-Yamaha-EXCITER-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-EXCITER-2024-400x300.gif

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย แถลงความคืบหน้า “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”

blank

– เบื้องต้นพบปัญหาผู้ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ขาดทักษะในการคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจและการควบคุมรถอย่างถูกต้องเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

– แนะวิธีแก้ปัญหาเร่งด่วน ควรพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างรอบด้าน มุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ การคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการควบคุมรถอย่างปลอดภัย

กรุงเทพฯ, 1 สิงหาคม 2562 : ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Research Center)  ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย แถลงความคืบหน้าการวิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใน “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” (In-depth Accident Investigation in Thailand) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ฮอนด้าและยามาฮ่า เพื่อเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ตั้งเป้าที่ 1,000 เคส ระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 ซึ่งล่าสุดเก็บข้อมูลแล้ว 600 เคส พบปัญหาเบื้องต้นคือผู้ใช้รถขาดทักษะในการคาดการณ์อุบัติเหตุ การควบคุมรถและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แนะวิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนควรพัฒนาทักษะให้กับผู้ขับขี่เป็นลำดับแรก

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยทางถนน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),  มร. อะซึชิ  โอกาตะ กรรมบริหารระดับสูง บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, มร. โนะบุฮะรุ ทะคะฮาชิ ประธานบริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ เอเชียน เซ็นเตอร์ จำกัด และ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ร่วมงานแถลงข่าว

KaByRW.jpg

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้วิจัยหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ภายใต้ชื่อ”โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสม โดยทำการวิจัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 1,000 เคส ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 ล่าสุดโครงการ ได้เก็บข้อมูลแล้วรวมทั้งสิ้น 600 เคส และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีข้อค้นพบเบื้องต้นที่น่าสนใจดังนี้

 

  1. ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ มักเสียชีวิตจากการชนกับรถยนต์คันอื่น หรือชนกับวัตถุข้างทาง แต่หากรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มเองอุบัติเหตุจะรุนแรงน้อยกว่า ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตต่ำกว่าการชนกับรถคันอื่นทั้งนี้รถยนต์คันอื่นที่ชนกับรถจักรยานยนต์ และทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ ตามมาด้วย รถบรรทุกและรถที่จอดอยู่ข้างทาง

 

  1. รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่พบบ่อยมากที่สุด คือ การเลี้ยวตัดกระแสจราจรทางตรง ณ จุดตัดประเภทต่างๆ เช่น จุดกลับรถ ทางแยก ทางเข้าออกซอยต่างๆ แต่รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ส่งผลให้มีผู้ขับขี่เสียชีวิตมากที่สุด คือ การชนที่ด้านหน้า และการชนท้ายรถคันอื่น รวมถึงการชนกับรถขณะกำลังเลี้ยวในบริเวณจุดตัดต่างๆ

 

  1. สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ มาจากปัจจัยด้านบุคคลเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94 แบ่งเป็น สาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 54 และสาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของคนขับรถยนต์คันอื่น ร้อยละ 40 ส่วนสาเหตุจากถนนและยานพาหนะ มีเพียงร้อยละ 4 และร้อยละ 2 ตามลำดับ

 

  1. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในการประเมินสถานการณ์ (Perception Failure) ถึงร้อยละ 52 ความผิดพลาดในการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) ร้อยละ 21 และความผิดพลาดในการควบคุมรถ (Reaction Failure) ร้อยละ 19

KaBmYg.jpg

นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 26 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีสาเหตุจากความไม่ตั้งใจในการขับขี่  (Attention Failure) และร้อยละ 32 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากการทำผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (Faulty in Traffic Strategy)

 

  1. ร้อยละ 48 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Collision Avoidance) ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่ไม่สามารถหลบหลีกหรือเบรกได้ทัน เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน อีกทั้งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กลุ่มนี้ยังมีสภาพร่างกายปกติ ไม่มีอาการง่วงหรือเมาแต่อย่างใด และขับขี่ด้วยความเร็วปกติระหว่าง 30-60 กิโลเมตรต่อ ชั่วโมง
  2. ร้อยละ 40 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่ อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ ปรากฏว่าร้อยละ 50 เป็นการชนที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชนเช่นเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าผู้ขับขี่จะมีใบอนุญาต แต่ก็ยังขาดทักษะในการหลีกเลี่ยงการชน

 

  1. มากกว่าร้อยละ 85 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์นั้น เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย แต่เรียนรู้วิธีการขับขี่รถจักรยานยนต์จากสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือฝึกขับขี่ด้วยตนเอง

 

  1. มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่

 

  1. ร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการขับขี่ขณะมึนเมา และในกลุ่มนี้ยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์

 

รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากข้อค้นพบดังกล่าว นำไปสู่สมมติฐานที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดสองประการ ประการแรกคือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยยังขาดการเรียนรู้ทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย ทำให้ขาดความสามารถในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น  และอีกประการคือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดการเรียนรู้ด้านการคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ จะเห็นได้จากการที่ผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่ไม่ทราบหรือไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดกับตัวเอง และไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที หรือบังคับรถเพื่อหลบหลีกได้อย่างปลอดภัยเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน”

KaBIM1.jpg

จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อสรุปและเสนอแนะว่า มาตรการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนควรดำเนินการเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รอบด้าน โดยจะมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ การคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการควบคุมรถอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จะได้รายงานผลการวิจัยเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลการวิจัยต่อไป