Banner Yamaha FINN SP 2024 1150x250
Banner Yamaha FINN SP 2024 400x300

ความเหมือนที่แตกต่างของระบบประหยัดน้ำมันอย่าง Stop & Start System และ Idling Stop System

c2

หากจะพูดถึงการแข่งขันอย่างหนึ่งของรถมอเตอร์ไซค์ในปัจจุบันนั้น นอกเหนือไปจากเรื่องของขุมกำลังเครื่องยนต์แล้ว พวกออพชั่นต่างๆ ที่ติดรถมาให้ไม่ว่าจะเป็นในด้านการอำนวยความสะดวก หรือด้านความปลอดภัยนั้นก็เป็นสิ่งที่แต่ละค่ายนำมาชูเป็นจุดขายกันเป็นหลัก และอีกประเด็นสำคัญที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในรถมอเตอร์ไซค์มากขึ้นกว่าเดิมอย่างชัดเจนแล้ว ก็คงจะหนีไม่พ้นระบบที่จะช่วยในการประหยัดน้ำมันของตัวรถ ที่ตอนนี้มีที่โดดเด่นออกมาอยู่ 2 ระบบสำหรับในรถมอเตอร์ไซค์ หนึ่งคือระบบ Stop & Start System จากทางค่าย Yamaha และ Idling Stop System จากทางค่าย Honda อันเป็นเทคโนโลยีจากทางประเทศญี่ปุ่นทั้งคู่นั่นเอง

โดยหลักการทำงานแบบกว้างๆ แล้วถือว่าทั้ง 2 ระบบนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือจะสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ให้ดับเองโดยอัตโนมัติในยามที่รถจอดนิ่งสนิท และเวลาเราบิดคันเร่งเพื่อต้องการออกตัว เครื่องยนต์ก็จะกลับมาทำงานโดยอัตโนมัติอีกครั้งนั่นเอง ตรงนี้ทำให้เราสามารถประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้ในยามที่เครื่องดับอยู่ เพราะเป็นจังหวะที่ไม่ต้องการการจ่ายน้ำมันเข้าห้องเครื่องแต่อย่างใด แต่ทีนี้ทั้ง 2 ระบบที่เราจะนำมาเปรียบเทียบกันนั้นมีข้อแตกต่างที่น่าสนใจในรายละเอียดไม่น้อยเลยทีเดียว เลยอยากจะขอยกเอามาเทียบกันเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

ความแตกต่างของหลักการทำงานเบื้องต้น

Stop & Start System

blank

สำหรับระบบ Stop & Start System นั้นสามารถเลือกเปิดหรือปิดการทำงานได้ ด้วยสวิทช์ที่แฮนด์ด้านขวามือ หากสัญญาณ Stop & Start System ที่หน้าปัดเรือนไมล์    มีไฟสัญญาณสีเขียวติดค้างและดับลง    หมายความว่าระบบการทำงานของ        Stop & Start System พร้อมที่จะเริ่มการทำงานเป็นที่เรียบร้อย แต่จะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขที่ว่า อุณหภูมิเครื่องยนต์จะต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และความเร็วรถจะต้องมีมากกว่า 10 กม./ชม. ขึ้นไป ระบบ Stop & Start System         จึงจะทำงานอย่างสมบูรณ์

Idling Stop System

blank

และสำหรับระบบ Idling Stop System นั้นก็สามารถเลือกที่จะเปิดหรือปิดระบบได้เช่นเดียวกัน ที่สวิทช์ด้านขวามือ             โดยจะมีหลอดไฟสัญญาณแสดงการทำงานเมื่อเปิดระบบ โดยแน่นอนว่าจะต้องมีเงื่อนไขสำหรับการทำงานเช่นเดียวกัน     โดยระบบจะทำงานอย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และความเร็วรถจะต้องมี         มากกว่า 10 กม./ชม. ขึ้นไป

ความแตกต่างของการกำหนดเวลาก่อนที่เครื่องยนต์จะดับ

ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่าง 2 ระบบ โดยระบบ Stop & Start System นั้นหากรถวิ่งมาด้วยความเร็วเกินกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อจอดรถ รถจะดับในทันที  แต่ถ้าหากว่าวิ่งมาด้วยความเร็วที่ต่ำกว่า 30  กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจอดรถระบบจะจับเวลาที่ 5 วินาทีแล้วจึงจะทำการดับเครื่อง  ส่วนระบบ Idling Stop System นั้นเครื่องยนต์จะดับหลังจากที่รถจอดนิ่งสนิทเป็นเวลา 3 วินาที ซึ่งตัวเลขตรงนี้อาจจะดูผิวเผินไม่แตกต่างกันมาก แต่สำหรับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันแล้ว ถือว่าแตกต่างกันพอสมควร เพราะสถานการณ์จริงๆ นั้นย่อมจะเป็นไปได้ที่บางกรณีเราอาจจะยังไม่ตั้งใจให้เครื่องยนต์ดับ แต่บางครั้งตัวจับเวลาของ Idling Stop System ที่กำหนดมา 3 วินาทีก็อาจจะทำงานแล้ว ซึ่งตรงนี้อาจจะเกิดความหงุดหงิดได้บ้างที่เครื่องยนต์ดับเร็วเกินไป ในขณะที่ Stop & Start System นั้นกำหนดมาที่ 5 วินาทีซึ่งอาจจะดูว่าเป็นระยะเวลาที่พอดีกว่าสำหรับการใช้งานจริง แต่ในทางกลับกันหากว่าใครที่ชอบความรวดเร็วทันใจ อยากให้เครื่องยนต์ดับเวลาจอดเร็วๆ ก็อาจจะชื่นชอบที่ 3 วินาทีมากกว่าก็เป็นได้

 

ความแตกต่างของการออกตัวหลังจากที่เครื่องยนต์ดับแล้ว

c3

หลังจากที่เครื่องยนต์ดับตอนที่รถจอดสนิทแล้ว หากว่าต้องการออกตัวเพื่อให้รถวิ่งต่ออีกครั้ง ระบบ Stop & Start System นั้นจะใช้ระบบ Quick Start โดยกล่อง ECU นั้นจะสั่งการ ให้ฉีดน้ำมันรอเอาไว้ในห้องเผาไหม้ พร้อมสั่งให้เครื่องยนต์ดับ      ตัดวงจรการจุดระเบิดเพื่อให้เครื่องยนต์มีส่วนผสมในห้องเผาไหม้ก่อน และเมื่อบิดคันเร่งเครื่องยนต์ก็จะทำเกิดการจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ทันที ทำให้เราสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ทันทีและมีความรวดเร็วขึ้น

blank

ในขณะที่ระบบ Idling Stop System นั้นจะใช้ตัวตรวจจับตำแหน่งลิ้นเร่ง (Throttle Position Sensor) ถ้าลิ้นเร่งถูกตรวจสอบพบว่ามีการเคลื่อนที่ ระบบหยุดการทำงานของเครื่องยนต์ในรอบเดินเบาก็จะไม่ทำงาน ถ้าหากระบบหยุดการทำงานของเครื่องยนต์ในรอบเดินเบาทำงานอยู่ เครื่องยนต์ก็จะติดอีกครั้ง เมื่อลิ้นเร่งเปิดมากกว่า 1 องศา จะสั่งการให้ อัลเตอร์เนเตอร์ สตาร์ทเตอร์ สตาร์ทเครื่องยนต์หลังจากบิดคันเร่ง เพื่อเข้าสู่สภาวะการทำงานปกติ

หากเทียบจากหลักการทำงานที่แตกต่างกันตรงนี้แล้ว การออกตัวด้วยระบบ Stop & Start System ที่มีตัว Quick Start ช่วยก็ดูจะออกตัวได้รวดเร็วกว่าเพราะมีการจ่ายน้ำมันไว้รอในห้องเครื่องก่อนแล้ว ส่วน Idling Stop System นั้นเหมือนกับว่าเราต้องบิดคันเร่งไปจังหวะหนึ่งก่อนเพื่อให้เครื่องยนต์กลับมาทำงานอีกครั้ง แล้วอีกจังหวะต่อจากนั้นรถจึงจะเคลื่อนที่ออกไป

ความแตกต่างของการใช้งานแบตเตอร์รี่

หัวใจหลักอย่างหนึ่งของระบบเปิด-ปิดเครื่องยนต์อัตโนมัติอย่างนี้ก็คือในเรื่องของแบตเตอร์รี่ เพราะแน่นอนว่ายามที่เครื่องยนต์ดับชั่วคราวจากการสั่งงานของระบบ พวกไฟต่างๆ อย่างไฟหน้าหรือว่าไฟเลี้ยวก็ยังคงทำงานอยู่ แต่ในจังหวะนี้ไม่มีการชาร์จไฟเกิดขึ้นเหมือนในจังหวะที่รถวิ่งปกติ ทำให้อายุของแบตเตอร์รี่สั้นลงกว่าเดิมได้

ดังนั้นในส่วนของระบบ Stop & Start System นั้นได้เพิ่มความสามารถของ ECU เข้ามาเพื่อช่วยคำนวณการใช้งานของรถ  โดยจะมีการคำนวณการใช้งานของรถย้อนหลังทุกๆ 10 นาที เพื่อช่วยในการตัดสินใจในการหยุดรถในจังหวะที่เหมาะสม     เป็นการสะสมพลังงานของแบตเตอรี่และสำหรับระบบ Idling Stop System จะใช้กล่องควบคุม ECM (Engine Control Module) ที่ติดอยู่ในโครงถังด้านในหน้าถึงน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อควบคุมระบบการทำงานของเครื่องยนต์ในรอบเดินเบา, ระบบสตาร์ และ ระบบไฟชาร์จ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของ Idling Stop System

 

สรุปภาพรวมของ Stop & Start System และ Idling Stop System

ทั้งสองระบบนั้นก็ต้องถือว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยแต่ละจุด อย่างที่เราได้นำมาแจกแจงกันในเนื้อหาข้างต้น ซึ่งส่งผลต่อการใช้งานในภาพรวมของเราในชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน โดยทาง Stop & Start System                      ที่ทาง Yamaha ประเทศไทย นั้นที่นำมาใช้งานกับ AEROX 155 ABS Version นอกจากจะช่วยให้รถเราประหยัดน้ำมันมากขึ้นแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเค้าจะพยายามศึกษาพฤติกรรมและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจริงของ user อย่างการคำนวณเวลาก่อนที่เครื่องยนต์จะดับที่ 5 วินาที, ระบบ Quick Start ที่ทำให้การบิดคันเร่งออกตัวหลังจากที่เครื่องดับนั้นไม่สะดุด รวมไปถึง ECU ที่ช่วยในการถนอมอายุการใช้งานของแบตเตอร์รี่ให้ยาวนานเหมือนกับรถปกติทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ใช้ระบบนี้

ส่วนทาง Idling Stop System ก็ถือว่าเป็นระบบที่นำมาบุกเบิกเทคโนโลยีในวงการมอเตอร์ไซค์บ้านเราเลย ก็ว่าได้ โดยมีในรุ่นแรกกับ Honda PCX 125 ตัวแรกสุดที่ขายบ้านเรา โดดเด่นด้วยตัวควบคุม ECM (Engine Control Module) ที่ให้การทำงานของอุปกรณ์แต่ละอย่างในวงจรเดียวกันอย่าง การทำงานของเครื่องยนต์ในรอบเดินเบา, ระบบสตาร์ และ ระบบไฟชาร์จ  ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีเพื่อให้เทคโนโลยีในการประหยัดน้ำมันตัวนี้ทำงานได้ตามจุดประสงค์มากที่สุด และหลังจากนั้นทางค่ายเองก็ได้นำเอาระบบนี้ไปใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกอีกหลายๆ รุ่นของทางค่ายเช่น Moove, Click-125i,ฯลฯ

ถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดไปบ้าง แต่ทั้งสองระบบนี้ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าชื่นชม              เพราะนอกจากจะทำให้รถที่เราใช้งานนั้นประหยัดพลังงานมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย           เพราะตอนที่เครื่องยนต์ดับแบบอัตโนมัติยามที่ติดไฟแดงหรือจอดข้างทางชั่วคราวนี้ ตัวรถก็จะไม่ต้องปล่อยเอามลพิษออกมาจากท่อไอเสียด้วย ตรงนี้เชื่อว่าในอนาคตจะมีรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกอีกหลายรุ่นที่หันมาใช้งานระบบประหยัดหลังงาน   แบบนี้กัน ส่วนจะเป็นรุ่นไหนอย่างไรบ้างนั้นต้องติดตามกันต่อไป

 

ตารางเปรียบเทียบระหว่าง Stop & Start System และ Idling Stop System

  Stop & Start System Idling Stop System
เงื่อนไขในการเริ่มทำงานของระบบ อุณหภูมิเครื่องยนต์จะต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส และความเร็วรถจะต้องมีมากกว่า 10 กม./ชม. ขึ้นไป อุณหภูมิเครื่องยนต์จะต้องมีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศาเซลเซียส และความเร็วรถจะต้องมีมากกว่า 10 กม./ชม. ขึ้นไป
การตั้งเวลาก่อนที่เครื่องยนต์จะดับ 5 วินาที 3 วินาที
การออกตัวหลังจากที่เครื่องยนต์ดับ ใช้ระบบ Quick Start ทำให้เราสามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ทันทีอย่างต่อเนื่อง Alternator Starter สตาร์ทเครื่องยนต์หลังจากบิดคันเร่ง 1 ครั้ง เพื่อเข้าสู่สภาวะการทำงานปกติ
การสะสมพลังงานแบตเตอร์รี่ ใช้ ECU เข้ามาเพื่อช่วยคำนวณการใช้งานของรถ  รถย้อนหลังทุกๆ 10 นาที ให้หยุดรถได้เหมาะสมเป็นการสะสมพลังงานของแบตเตอรี่ ใช้กล่องควบคุม ECM ควบคุมระบบการทำงานของเครื่องยนต์ในรอบเดินเบา, ระบบสตาร์ และ ระบบไฟชาร์จ

 

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ Yamaha AEROX 155 ABS Version ที่ใช้ระบบ Stop & Start System ได้ที่นี่

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของ Honda Click 125i ที่ใช้ระบบ Idling Stop System ได้ที่นี่

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก yamaha-motor.co.th และ aphonda.co.th